แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฎีกาของจำเลยที่ว่า ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่อาจรับฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงิน จึงเป็นกรณีที่มีข้อสงสัยซึ่งต้องตีความและวินิจฉัยไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงิน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอ้าง ผลเท่ากับเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248
การที่โจทก์นำสืบว่าลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้เงินเป็นลายมือชื่อของจำเลย แม้ชื่อตามลายมือนั้นจะไม่ตรงกับชื่อที่ถูกต้องแท้จริงของจำเลย แต่เป็นการนำสืบถึงตัวบุคคลผู้ทำสัญญาว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้กู้ตามที่ปรากฏในสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์และทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง การนำสืบของโจทก์มิได้มีผลกระทบถึงข้อความหรือข้อตกลงในสัญญากู้เงิน จึงมิใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2534 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 52,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่ค้างชำระนับแต่วันกู้จนถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 39,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 91,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 52,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ สัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 91,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 52,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 30 เมษายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 2,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่อาจรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นกรณีที่มีข้อสงสัยซึ่งต้องตีความและวินิจฉัยไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 นั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอ้าง ผลเท่ากับเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า การที่โจทก์นำสืบว่า ลายมือชื่อ “สมถวิล บุญภักดี” ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 เป็นลายมือชื่อของจำเลย โดยที่จำเลยมีชื่อที่ถูกต้องแท้จริงว่า “ถวิล บุญภักดี” นั้น เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์นำสืบว่าลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 เป็นลายมือชื่อของจำเลย แม้ชื่อตามลายมือชื่อนั้นจะไม่ตรงกับชื่อที่ถูกต้องแท้จริงของจำเลยก็ตาม แต่เป็นการนำสืบถึงตัวบุคคลผู้ทำสัญญาว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้กู้ตามที่ปรากฏในสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์และทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง การนำสืบของโจทก์มิได้มีผลกระทบถึงข้อความหรือข้อตกลงในสัญญากู้เงิน จึงหาใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันจะเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์