คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 465/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมรถยนต์คันเกิดเหตุเป็นของโจทก์ที่ 2 ต่อมาได้ขายให้โจทก์ที่ 1 แต่มิได้แจ้งการโอนให้เป็นหลักฐานทางทะเบียน หลังจากนั้นโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์คันนี้กับจำเลยแทนโจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ออกเบี้ยประกันภัย และจำเลยทราบว่าโจทก์ที่ 2 ได้โอนรถยนต์ให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นคู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาประกันภัยโดยโจทก์ที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาประกันภัย
เมื่อโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาประกันภัยที่โจทก์ที่ 2 ได้ทำแทนแล้ว โจทก์ที่ 2 ก็สิ้นความผูกพันกับจำเลย โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ โจทก์ที่ ๒ มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียนรถยนต์แทนโจทก์ที่ ๑ โจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันทำสัญญาประกันภัยรถคันนี้ไว้แก่จำเลย โดยทำสัญญาในนามโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้เอาประกันภัย ระหว่างอายุสัญญาประกันภัยลูกจ้างของโจทก์ที่ ๑ ขับรถยนต์ดังกล่าวชนราวสะพานและตกลงไปในลำคลอง โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมสะพานและรถยนต์ดังกล่าวไป จำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัยแต่ไม่ชดใช้ให้ จึงขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย โจทก์ที่ ๒ โอนรถยนต์ดังกล่าวไปให้โจทก์ที่ ๑ โดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบและต่อสู้อีกหลายประการ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาประกันภัยแก่โจทก์ที่ ๑
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ ๒ ทำสัญญาประกันภัยแทนโจทก์ที่ ๑ โดยโจทก์ที่ ๑ เป็นผู้ออกเบี้ยประกันภัย และตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๕๗/๒๕๒๐ ของศาลจังหวัดนครนายก จำเลยยอมผูกพันตามสัญญาประกันภัยฉบับดังกล่าวกับโจทก์ที่ ๑ โดยยอมชดใช้ค่าเสียหายแทนโจทก์ที่ ๑ ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แสดงว่าจำเลยทราบแล้วว่าโจทก์ที่ ๒ โอนรถยนต์คันเกิดเหตุไปให้โจทก์ที่ ๑ และจำเลยยอมผูกพันรับว่าโจทก์ที่ ๒ ทำสัญญาประกันภัยแทนโจทก์ที่ ๑ ถือได้ว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นคู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาประกันภัยโดยโจทก์ที่ ๒ เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ที่ ๑ เท่านั้น โจทก์ที่ ๑ จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนโจทก์ที่ ๑ เมื่อโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวการแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาประกันภัยที่โจทก์ที่ ๒ ได้ทำแทนแล้ว โจทก์ที่ ๒ ก็สิ้นความผูกพันกับจำเลย โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ ๑ กับให้ยกฟ้องคดีเฉพาะโจทก์ที่ ๒

Share