คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4647/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 20 เม็ด ซึ่งมิใช่จำนวนเล็กน้อย ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่รอการลงโทษให้แก่จำเลย แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาโดยตรงว่าไม่สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยก็ตาม แต่การที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษแก่จำเลยแล้ว ศาลฎีกาจึงชอบที่จะพิพากษาแก้เป็นไม่รอการลงโทษให้จำเลยได้ ไม่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ป.อ. มาตรา 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี 8 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและคืนธนบัตร 1,600 บาท ของกลางให้เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 (ที่แก้ไขใหม่) เว้นแต่โทษปรับลงโทษตามมาตรา 67 (เดิม) (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่)), 102 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 12,000 บาท คำให้การชั้นจับกุมและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี กับคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด กับให้จำเลยกระทำกิจการบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ยกฟ้องข้อหาอื่น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ร้อยตำรวจเอกอารยะ บุญประสพ และสิบตำรวจเอกอุทัย เศรษฐแสงศรี เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอดำเนินสะดวกค้นตัวจำเลยพบเมทแอมเฟตามีนในกระเป๋ากางเกงจำนวน 20 เม็ด บรรจุรวมกันอยู่ในถุงพลาสติก คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ การที่จำเลยให้การรับสารภาพต่อร้อยตำรวจเอกอารยะในชั้นจับกุมว่า จำเลยซื้อเมทแอมเฟตามีนจากคนในละแวกเดียวกันในราคาเม็ดละ 60 บาท แล้วนำมาจำหน่ายในราคาเม็ดละ 80 บาท นั้น ปรากฏจากบันทึกคำให้การผู้ต้องหาที่จำเลยให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 มกราคม 2545 ที่จำเลยถูกจับกุมนั้นเองว่า เหตุที่จำเลยยอมรับสารภาพในชั้นจับกุมเพราะเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมข่มขู่จำเลยว่าจะดำเนินคดีทั้งบุตรและภริยาจำเลยด้วย หากจำเลยไม่ยอมรับสารภาพ และในชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับมิได้เอาบุตรและภริยาจำเลยมาดำเนินคดีด้วย จำเลยจึงให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 20 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงฟังได้เพียงว่ามีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวนั้นไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รอการลงโทษให้แก่จำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ทั้งนี้เพราะเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองจำนวน 20 เม็ด นั้น มิใช่จำนวนเล็กน้อย และคดีนี้แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาโดยตรงในข้อที่ว่าไม่สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยก็ตาม แต่การที่โจทก์ฎีกาคัดค้านว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษแก่จำเลยแล้ว ศาลฎีกาจึงชอบที่จะพิพากษาแก้เป็นไม่รอการลงโทษไม่คุมความประพฤติและไม่ปรับจำเลยได้ หาเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยอันจักต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษ ไม่คุมความประพฤติและไม่ปรับจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7.

Share