คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5022/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อกำหนดในการเลิกสัญญาเช่าซื้อและการกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อ แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์บางประเภทของบริษัทเงินทุนจะกำหนดวิธีการเลิกสัญญาและการกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อไว้โดยเฉพาะเพื่อควบคุมธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ไม่ให้เอาเปรียบลูกค้าในการเลิกสัญญาเช่าซื้อ หากผู้ให้เช่าซื้อฝ่าฝืน เมื่อผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าปรับตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 แล้วผู้ให้เช่าซื้อก็ยังสามารถที่จะกลับมาปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกำหนดได้ ดังนั้น แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุเงื่อนไขในการเลิกสัญญาแตกต่างไปจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ก็คงไม่มีผลใช้บังคับเฉพาะข้อกำหนดในการเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เพราะสามารถแยกส่วนที่สมบูรณ์ออกจากส่วนที่ไม่สมบูรณ์ได้หาทำให้สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะทั้งฉบับแต่อย่างใดไม่ ส่วนค่าเสียหายที่สัญญาเช่าซื้อระบุว่า “เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดนอกจากยอมให้ริบเงินที่ชำระไปแล้วยังต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดด้วยนั้น” เป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ และไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาเช่าซื้อจึงไม่เป็นโมฆะ
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์บางประเภทของบริษัทเงินทุนออกตามความในมาตรา 31 แห่ง พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ข้อ 3(7) ก. กำหนดวิธีการเลิกสัญญาว่าบริษัทเงินทุนจะเลิกสัญญาต่อเมื่อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อยสามสิบวันและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการควบคุมธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ไม่ให้เอาเปรียบลูกค้าในการเลิกสัญญาเช่าซื้อ และได้กำหนดโทษในการฝ่าฝืน การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือและบอกเลิกสัญญา จึงไม่เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบและไม่มีผลทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแต่อย่างใด เมื่อสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกันโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ยี่ห้อเบนซ์500 หมายเลขทะเบียน 4 ฉ – 3738 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 3,325,032 บาท ตกลงผ่อนชำระ 36 งวด งวดละ 92,362 บาท ต่อเดือน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 3 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 4 เป็นต้นมา และเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองใช้รถยนต์ของโจทก์ตลอดมา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อพร้อมอุปกรณ์ติดรถยนต์คืนโจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 2,550,000 บาท ให้ใช้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 554,172บาท ค่าเสียหายก่อนวันฟ้อง 200,000 บาท และค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องอีกเดือนละ40,000 บาท จนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคา

จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ขัดกับพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจะต้องบอกกล่าวให้แก่ผู้เช่าซื้อล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ตามสัญญาเช่าซื้อมิได้ระบุไว้ ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน อนึ่ง การทวงถามและการบอกเลิกสัญญาตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะให้กำหนดเวลาน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว ค่าเสียหายไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท และราคารถยนต์พิพาทไม่เกิน1,500,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อไม่เป็นโมฆะ เฉพาะข้อกำหนดในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ และโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ยี่ห้อเบนซ์ 500 หมายเลขทะเบียน 4 ฉ – 3738 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 3,325,032 บาท ตกลงผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 36 งวด งวดละ 92,362 บาทต่อเดือน ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1ชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 3 งวด และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 4 ประจำงวดวันที่10 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นมา โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.7 แต่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองและใช้รถยนต์พิพาทตลอดมา ปัญหาข้อแรกเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ก่อนว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 7 ก. และข้อ 8ขัดต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2530 ข้อ 3(7) ก. ที่ออกตามความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 เพราะตามประกาศดังกล่าวได้กำหนดไว้ว่าจะต้องระบุในสัญญาเช่าซื้อว่า การที่จะถือว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อจะต้องผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวดติด ๆ กัน และให้ผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าซื้อให้ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ติดค้างภายใน 30 วัน หากผู้เช่าซื้อไม่ชำระผู้ให้เช่าซื้อจึงจะบอกเลิกสัญญาได้เมื่อผู้ให้เช่าซื้อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จะไปตกลงอย่างอื่นตามบทบัญญัติมาตรา 574 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.3 จึงเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ข้อกำหนดในการเลิกสัญญาเช่าซื้อและการกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อ แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์บางประเภทของบริษัทเงินทุนจะกำหนดวิธีการเลิกสัญญาและการกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อไว้โดยเฉพาะเพื่อควบคุมธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ไม่ให้เอาเปรียบลูกค้าในการเลิกสัญญาเช่าซื้อ แต่ก็แสดงให้เห็นเจตนาของกฎหมายว่า ในชั้นแรกหากผู้ให้เช่าซื้อฝ่าฝืนข้อกำหนดในการเลิกสัญญา เมื่อผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าปรับตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 แล้วผู้ให้เช่าซื้อก็ยังสามารถที่จะกลับมาปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ดังนั้น แม้สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 จะระบุเงื่อนไขในการเลิกสัญญาแตกต่างไปจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวก็คงไม่มีผลใช้บังคับเฉพาะข้อกำหนดในการเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เพราะสามารถแยกส่วนที่สมบูรณ์ออกจากส่วนที่ไม่สมบูรณ์ได้ หาทำให้สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะทั้งฉบับแต่อย่างใดไม่ ส่วนค่าเสียหายที่สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 8 ระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัด นอกจากยอมให้ริบเงินที่ชำระไปแล้วยังต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดด้วยนั้น ข้อสัญญาข้อนี้เป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับและไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนเช่นกัน สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.3 จึงไม่เป็นโมฆะ ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์บางประเภทของบริษัทเงินทุนออกตามความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ข้อ 3(7)ก. กำหนดวิธีการเลิกสัญญาว่า “กรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินรายงวดสองงวดติด ๆ กันบริษัทเงินทุนจะเลิกสัญญาเช่าซื้อ ริบบรรดาเงินที่ได้รับชำระแล้ว และกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อได้ต่อเมื่อบริษัทเงินทุนมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อยสามสิบวัน นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น” ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ไม่ให้เอาเปรียบลูกค้าในการเลิกสัญญาเช่าซื้อ และตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ได้กำหนดโทษในการฝ่าฝืน มาตรา 31 ไว้ให้ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องจึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระรวม 6 งวด ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.5 จึงไม่เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบและไม่มีผลทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแต่อย่างใด เมื่อสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกันโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่เหลืออีกต่อไป”

พิพากษายืน

Share