คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การแต่เพียงว่าโจทก์ประพฤติทุจริตเกี่ยวกับการเติมน้ำมันรถยนต์จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์มิได้ให้การว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงแต่อย่างใดการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงจึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดีการที่จำเลยอุทธรณ์ว่าตามระเบียบการเติมน้ำมันของจำเลยระบุให้เติมน้ำมันรถให้ผู้ถือบิลน้ำมันเลขทะเบียนรถยนต์ตรงกับเลขทะเบียนรถยนต์ที่มาเติมทุกครั้งและการแก้ไขจำนวนเงินในบิลน้ำมันจะต้องไม่เกินจำนวนที่เขียนไว้ในบิลน้ำมันการที่โจทก์ไม่ยึดถือระเบียบข้อบังคับคำสั่งและวิธีปฎิบัติของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงนั้นเป็นการอุทธรณ์นอกประเด็นถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา225วรรคแรกประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา31ศาลแรงงานกลางรับอุทธรณ์จำเลยเป็นการมิชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ประพฤติมิชอบนำคูปองน้ำมันที่จำเลยให้โจทก์ไปให้บุคคลอื่นใช้ ซึ่งไม่เป็นความจริงขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 144,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 44,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้เงินค่าตอบแทนการขายสินค้าเป็นเงิน70,000 บาท และเงินค่าตอบแทนการขายสินค้าสะสมเป็นเงิน10,000 บาท ค่าเสียหายจำนวน 360,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทุจริตเกี่ยวกับการเติมน้ำมันรถยนต์ ซึ่งจำเลยได้รับแจ้งว่ามีรถยนต์แท็กซี่มิเตอร์มาเติมน้ำมันรถยนต์โดยใช้คูปองของจำเลยหลายครั้ง จำเลยตรวจสอบพบว่าคูปองน้ำมันดังกล่าวเป็นคูปองที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ จึงเรียกโจทก์มาเตือนด้วยวาจา ต่อมายังคงได้รับแจ้งว่ามีรถยนต์แท็กซี่มิเตอร์เติมน้ำมันอีก เมื่อตรวจดูยอดค่าใช้จ่ายน้ำมันของโจทก์แล้วมีการเบิกจ่ายในเดือนมิถุนายน 2538รวม 22 ครั้ง เป็นเงิน 4,543 บาท และมีการแก้ไขตัวเลขคูปองน้ำมันจาก 200 บาท เป็น 343 บาท ซึ่งนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบแล้วยังเป็นการทุจริตอย่างร้ายแรงอีกด้วย นอกจากนี้โจทก์ยังได้ประกอบกิจการแข่งขันกับจำเลยโดยตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดกฤษณาโฮมดีไซน์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์จำเลยตกลงกันได้ในส่วนเงินตอบแทนการขายและโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องเงินในส่วนนี้
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 144,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 7 กรกฎาคม2538 เป็นต้น ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ถือได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับอันเป็นกรณีร้ายแรงและถือเป็นกรณีเคร่งครัดเพราะตามระเบียบของจำเลยเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 1 ระบุไว้ว่าให้เติมน้ำมันรถให้ผู้ถือบิลน้ำมันเลขทะเบียนรถยนต์ตรงกับเลขทะเบียนรถยนต์ที่มาเติมทุกครั้งที่มีการเติมน้ำมัน การแก้ไขจำนวนเงินในบิลน้ำมันให้เพิ่มขึ้น ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ก็ระบุไว้โดยเคร่งครัดแล้วว่าบิลน้ำมันที่ทางบริษัทออกให้จะเขียนจำนวนเงิน 200 บาท ต่อ 1 ใบ และถ้ามีการแก้ไขจำนวนเงินที่เติมน้ำมันต้องมีลายเซ็นผู้ที่ถือบิลน้ำมันไปเติมเซ็นกำกับทุกครั้งที่มีการแก้ไข และจำนวนเงินที่แก้ไขต้องไม่เกินจำนวนที่ทางเจ้าหน้าที่บริษัทจำเลยได้เขียนไว้ในบิลน้ำมันถือได้ว่าการกระทำของโจทก์ในกรณีดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนไม่ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง แบบแผน และวิธีปฎิบัติของจำเลย เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง ซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามอุทธรณ์ของจำเลย คดีมีประเด็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ประเด็นข้อนี้ตามคำให้การของจำเลย จำเลยให้การแต่เพียงว่าโจทก์ประพฤติทุจริตเกี่ยวกับการเติมน้ำมันรถยนต์ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์มิได้ให้การว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงแต่อย่างใด การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงจึงไม่เป็นประเด็นแห่งคดี การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าตามระเบียบการเติมน้ำมันของจำเลยระบุให้เติมน้ำมันรถให้ผู้ถือบิลน้ำมันเลขทะเบียนรถยนต์ตรงกับเลขทะเบียนรถยนต์ที่มาเติมทุกครั้ง และการแก้ไขจำนวนเงินในบิลน้ำมันจะต้องไม่เกินจำนวนที่เขียนไว้ในบิลน้ำมัน การที่โจทก์ไม่ยึดถือระเบียบ ข้อบังคับคำสั่ง แบบแผนและวิธีปฎิบัติของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงนั้น เป็นการอุทธรณ์นอกประเด็นถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรกประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานกลางรับอุทธรณ์จำเลยเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายก อุทธรณ์ ของ จำเลย

Share