แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยให้การรับสารภาพโดยศาลชั้นต้นเป็นผู้จดคำให้การไว้ให้และจำเลยแถลงว่าจะชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ร่วม แต่ขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไป 6 เดือน ศาลชั้นต้นอนุญาต เป็นการให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจและมิได้สำคัญผิด การที่จำเลยขอถอนคำให้การรับสารภาพและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธหลังจากที่ได้ให้การรับสารภาพแล้วถึง 6 เดือน โดยอ้างเหตุว่าจำเลยออกเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เพื่อเป็นการค้ำประกันหนี้ของบุคคลภายนอกที่มีอยู่ต่อโจทก์นั้น เป็นการให้การปฏิเสธเพื่อให้มีการสืบพยานต่อไปอีกถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประวิงคดีไม่ชอบที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ร่วม เป็นการยืนยันว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้เช็คนั้นชำระหนี้แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้ระบุว่าเป็นหนี้ค่าอะไร มูลหนี้อะไร และเป็นหนี้กันมาแต่เมื่อใดอันเป็นการระบุถึงความเป็นมาแห่งหนี้ก็หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่เพราะเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา จำเลยฎีกาอ้างว่าศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษให้จำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่แท้ที่จริงแล้ว จำเลยประสงค์เพียงจะให้ศาลฎีการอการลงโทษให้แก่จำเลยเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ฎีกาดังกล่าวของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธ แล้วต่อมาขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่รับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษา เรียงกระทงลงโทษ กระทงแรกจำคุก2 เดือน กระทงที่สอง จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 8 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยโดยจำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า เมื่อจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพ และขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องของโจทก์นั้น จำเลยได้ขอก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา ตามกฎหมายศาลชั้นต้นจะต้องอนุญาตให้จำเลยกลับคำให้การได้ การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยถอนคำให้การที่รับสารภาพจึงเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคสอง บัญญัติว่า”เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาติก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์”ดังนี้ เห็นได้ว่าเมื่อจำเลยขอแก้คำให้การ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุแห่งการขอแก้นั้นเป็นสำคัญ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้น โดยศาลเป็นผู้จดคำให้การของจำเลยไว้ให้ และในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะชำระหนี้ตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ร่วม และขอให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตตามที่ขอแสดงว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจและมิได้สำคัญผิดแต่อย่างใด การที่จำเลยขอถอนคำให้การรับสารภาพและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องของโจทก์ หลังจากที่ได้ให้การรับสารภาพแล้วถึง 6 เดือนเศษ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยออกเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับเพื่อเป็นการค้ำประกันหนี้ของบุคคลภายนอกที่มีอยู่ต่อโจทก์นั้นเป็นการให้การปฏิเสธเพื่อให้มีการสืบพยานต่อไปอีก ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ในคำให้การ จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยออกเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เป็นการชำระหนี้แก่นางทองทิพย์ตั้งอนันตกิจ ผู้เสียหาย โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นหนี้ค่าอะไรมูลหนี้อะไร และเป็นหนี้กันมาแต่เมื่อใด จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ออกเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ร่วม อันเป็นการยืนยันว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้เช็คนั้นชำระหนี้ แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้ระบุถึงความเป็นมาแห่งหนี้ตามฎีกาของจำเลยก็ตาม ก็หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ เพราะเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และศาลชั้นต้นก็ได้ลงโทษจำคุกจำเลยรวมทั้งหมด 4 เดือน ตามกฎหมายศาลชอบที่จะรอการลงโทษแก่จำเลย การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษให้จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจะอ้างว่าการที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษแก่จำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่แท้ที่จริงแล้วจำเลยก็ประสงค์เพียงจะให้ศาลฎีการอการลงโทษให้แก่จำเลยเท่านั้นถือได้ว่าเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปีฎีกาดังกล่าวของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน