คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4643/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ล.ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์รวม275,000บาทโดยมีจำเลยที่1ค้ำประกันและล. ได้มอบสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัตรถอนเงินอัตโนมัติให้ไว้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์นำไปถอนเงินเดือนของล.จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์โจทก์ถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติรวม345,000บาทจึงต้องนำเงินจำนวนนี้หักชำระหนี้จากเงินที่ล. กู้จากโจทก์จำนวน275,000บาทแต่เงินที่โจทก์ถอนมาทั้งหมดอันจะนำไปหักชำระหนี้นั้นเป็นการชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยซึ่งไม่ได้ความว่าคงเหลือต้นเงินเท่าใดและโจทก์ก็อ้างว่าล. ไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์เลยดังนั้นจึงกำหนดต้นเงินตามที่จำเลยที่2และที่3ให้การยอมรับว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วนไปแล้วเป็นเงิน210,000บาท การที่ล. มอบสิทธิในการถอนเงินโดยมอบบัตรถอนเงินอัตโนมัติให้โจทก์ไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของตนผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติถือว่าเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ได้ยอมรับแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา321แม้ว่าจำเลยที่2ที่3ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนในเอกสารนั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา653วรรคสองก็รับฟังได้ว่าล. ได้ชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์บางส่วนแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางเลิศระวี แสงชูโต กู้เงินโจทก์ไป หนี้ทั้งหมดถึงกำหนดแล้งนางเลิศระวีไม่ชำระ ต่อมานางเลิศระวีถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองเป็นทายาทโดยธรรมของนางเลิศระวีขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ครั้งแรกนางเลิศระวีกู้เงินจากโจทก์เพียง 230,000 บาท แต่ทำสัญญากู้ยืมเงินไว้268,000 บาท เพราะโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 35.27 ต่อปีอันเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด สัญญากู้ยืมเงินจึงตกเป็นโมฆะ ส่วนการกู้ครั้งที่สองนางเลิศระวีมิได้รับเงินจากโจทก์และสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีข้อความให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ยึดบัตรถอนเงินอัตโนมัติ(บัตรเอทีเอ็ม) และสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนางเลิศระวีไว้และนำบัตรถอนเงินอัตโนมัติดังกล่าวไปถอนเงินเดือนจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้นทุกสิ้นเดือน โจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วนแล้วเป็นเงินประมาณ 210,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ เพราะไม่มีทรัพย์มรดกของนางเลิศระวีตกทอดแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตและอนุญาตให้จำเลยที่ 3ผู้เยาว์ดำเนินคดีด้วยตนเองได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระต้นเงินจำนวน 65,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 58,000 บาท นับแต่วันชำระหนี้ครั้งสุดท้าย(วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536) จนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 7,000 บาท นับแต่วันชำระหนี้ครั้งสุดท้าย (วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2536) จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 และที่ 2(ที่ถูกเป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3) ได้รับจากนางเลิศระวี แสงชูโต)ผู้ตาย
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับนางเลิศระวีนางเลิศระวีได้มอบสมุดคู่ฝากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัตรถอนเงินอัตโนมัติของตนไว้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์นำไปถอนเงินเดือนจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของตนอันเป็นหลักประกันว่าโจทก์จะได้รับการชำระดอกเบี้ยทุกเดือน รวมทั้งต้นเงินคืนเป็นคราว ๆตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ หากมีเงินเหลือจากการหักชำระหนี้ในแต่ละเดือนแล้วนางเลิศระวีจะไปขอรับคืนจากโจทก์ โจทก์ถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารเฉพาะวันที่ 5ของทุกเดือนเป็นเงิน 335,000 บาท และมีการถอนเงินโบนัสอีก10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 345,000 บาท จึงต้องนำเงินจำนวนนี้ไปหักชำระหนี้จากเงินที่นางเลิศระวีกู้มาจากโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.3 จำนวนเงิน275,000 บาท แต่เงินจำนวน 345,000 บาท ที่โจทก์ถอนไปดังกล่าวอันจะนำไปหักชำระหนี้นั้นเป็นการชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยซึ่งไม่ได้ความว่าคงเหลือต้นเงินเท่าใด และโจทก์ก็อ้างว่านางเลิศระวีไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์เลย ดังนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดต้นเงินตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ให้การยอมรับว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วนไปแล้วเป็นเงิน210,000 บาท นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนในเอกสารนั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสองจึงรับฟังไม่ได้ว่า นางเลิศระวีชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์บางส่วนแล้วนั้น เห็นว่าการที่นางเลิศระวีมอบสิทธิในการถอนเงินโดยมอบบัตรถอนเงินอัตโนมัติให้โจทก์ไปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของตนที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาสามยอด ผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารดังกล่าวถือว่าเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ได้ยอมรับแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 จึงรับฟังได้ว่านางเลิศระวีได้ชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์บางส่วนแล้ว
พิพากษายืน

Share