คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์โดยใช้ทางตั้งแต่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมสิทธิ์ของ ม. และ ก. จนกระทั่งต่อมาที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 เป็นการใช้ทางพิพาทสืบเนื่องต่อกันมาด้วยความสงบโดยเปิดเผย โดยเจตนาใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเกินกว่า 10 ปี เมื่อคดีไม่ได้ความว่าเคยมีการขออนุญาตหรือมีการให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยทั้งหกเพื่อใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออก ทั้งพฤติการณ์ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทโดยการถือวิสาสะ แสดงว่ามีการใช้ทางพิพาทอย่างประสงค์จะให้ได้สิทธิทางภาระจำยอมโดยมิได้อาศัยสิทธิของผู้ใด จึงนับได้ว่ามีลักษณะเป็นการใช้สิทธิที่เป็นปรปักษ์ต่อจำเลยทั้งหกผู้เป็นเจ้าของทางพิพาท โจทก์ที่ 1 ย่อมได้สิทธิในทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382
การรื้อถอนลวดหนามออกจากทางพิพาทนั้น หากจำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล โจทก์ที่ 1 อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ทวิ ได้อยู่แล้ว โจทก์ที่ 1 จะเป็นผู้รื้อถอนเองโดยให้จำเลยทั้งหกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและทางภาระจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 243 และ 598 ให้จำเลยรื้อลวดหนามที่ปิดกั้นทางพิพาทออก ถ้าจำเลยไม่รื้อให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือทางภาระจำยอม ถ้าจำเลยไม่กระทำให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งหกให้การและฟ้องแย้งขอให้โจทก์ทั้งสองหยุดการใช้ทางพิพาทเข้าออกผ่านที่ดินของจำเลยทั้งหก ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายราคาต้นไม้เป็นเงิน 20,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2540 จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะหยุดการใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งเพราะไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทมีความกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 5.70 เมตร เป็นทางภาระจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 243 ของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยทั้งหกรื้อรั้วลวดหนามเฉพาะบริเวณที่ปิดกั้นทางพิพาทออก ถ้าไม่รื้อให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รื้อโดยให้จำเลยทั้งหกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งหกไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 243 หากจำเลยทั้งหกไม่ไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งหก
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดิน น.ส. 3 เลขที่ 31 หมู่ที่ 13 ตำบลห้วยป่าหวาย อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นของจำเลยทั้งหก หลังจากถนนวัดดอยหินปูนตัดผ่านแล้ว ด้านทิศเหนือติดทางสาธารณะถนนเข้าวัดดอยหินปูน ด้านทิศใต้ทางตะวันตกติดที่ดินโฉนดเลขที่ 243 ของโจทก์ที่ 1 ด้านทิศตะวันออกติดที่ดินโฉนดเลขที่ 598 ของนางสาวพิมพ์ใจ คล้ายสิทธิ์ บุตรของโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีบ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 13 ของโจทก์ที่ 2 ตั้งอยู่ทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งหกเป็นทางเข้าออกระหว่างถนนวัดดอยหินปูนกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 ด้านทิศเหนือใกล้ที่ดินของนางสาวพิมพ์ใจตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ. 8 เดิมที่ดินของโจทก์ที่ 1 และนางสาวพิมพ์ใจเป็นที่ดินแปลงเดียวกันของนายมานิจบิดาของโจทก์ที่ 1 ซึ่งยกให้โจทก์ที่ 1 ส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งได้ขายให้แก่นางสาวพิมพ์ใจ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ที่ 1 นำสืบว่า ที่ดินของโจทก์ที่ 1 รวมกับที่ดินของนางสาวพิมพ์ใจ เดิมเป็นที่ดินผืนเดียวกัน เป็นของนายมากและนางแก้ว นายมากปลูกบ้านไว้ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและใช้ทางพิพาทเข้าออกที่ดินสู่ทางสาธารณะ เมื่อขายที่ดินใช้หนี้ และนายมานิจซื้อกลับคืนมา นายมากและนางแก้วก็ยังอยู่อาศัยและใช้ทางพิพาทมาโดยตลอด จนกระทั่งภายหลังได้รื้อบ้านออกไปก่อน โจทก์ที่ 1 รับโอนประมาณ 2 ถึง 3 ปี จึงมีการใช้ทางพิพาทมานานหลายสิบปีแล้ว ส่วนจำเลยทั้งหกนำสืบว่าฝ่ายโจทก์ไม่เคยใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยทั้งหกเข้าออกทางสาธารณะแต่ใช้ทางอื่น ทางพิพาทเพิ่งมีเมื่อปี 2541 โดยโจทก์ที่ 2 จ้างให้เจ้าหน้าที่แขวงการทางใช้รถไถเกรดต้นไม้ทิ้งเพื่อทำทางระหว่างที่มีการทำถนนวัดดอยหินปูนจากถนนลูกรังเป็นถนนลาดยาง จึงพิพาทกันในคดีนี้ เห็นว่า โจทก์มีนายมานิจซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ที่ 1 มาเบิกความว่า นายมานิจเป็นบุตรของนายมากและนางแก้ว ที่ดินของโจทก์ที่ 1 แต่เดิมมีเอกสารสิทธิเป็นตราจองเป็นของนายมากและนางแก้ว นายมากได้ปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินมาเป็นเวลาหลายสิบปี นายมานิจบิดาของโจทก์ที่ 1 เกิดที่บ้านนายมากและนางแก้วซึ่งเป็นปู่และย่าของโจทก์ที่ 1 โดยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ ต่อมานายมากและนางแก้วขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้นางสาวขนิษฐาและนางพวงผกาเพื่อชำระหนี้ แต่นายมากและครอบครัวยังคงอาศัยอยู่บนที่ดินของโจทก์ที่ 1 โดยใช้ทางพิพาทเข้าออกผ่านที่ดินของจำเลยทั้งหก ต่อมาปี 2520 นายมานิจบิดาของโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินคืนจากนางสาวขนิษฐาและนางพวงผกา เพื่อให้นายมาก นางแก้ว และพี่น้องร่วมบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 อาศัย ปรากฏตามสารบัญการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ. 2 ส่วนนายมานิจได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอเสาไห้และจะกลับมาทำนาบนที่ดินของโจทก์ที่ 1 ทุกปี ต่อมาปี 2540 นายมานิจได้ยกที่ดินให้โจทก์ที่ 1 ปรากฏตามสารบัญการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ. 2 ซึ่งจำเลยทั้งหกก็นำสืบรับว่านายมากและนางแก้วปลูกบ้านอาศัยอยู่บนที่ดินของโจทก์ที่ 1 มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว และได้มีการรื้อถอนบ้านออกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 เมื่อปี 2534 จึงฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ที่ 1 มีการครอบครองสืบเนื่องติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายคำ บุญเรือง พยานโจทก์ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี 2513 ถึง 2536 เบิกความว่า สมัยนายมากและนางแก้วนั้นไม่มีรถยนต์ใช้ แต่นายมากมีเกวียนใช้ ในสมัยก่อนทางพิพาทมีลักษณะเป็นโคกเกวียน สามารถเข้าออกได้ และจำเลยที่ 3 เบิกความตอบถามค้านทนายโจทก์ที่ 1 ว่า ปัจจุบันทางพิพาทมีสภาพดีกว่าเดิม เหตุที่จำเลยทั้งหกโกรธโจทก์ที่ 2 เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ได้ปรับทางเข้าออกให้ดีกว่าเดิมโดยไม่แจ้งให้จำเลยทั้งหกทราบ และจำเลยที่ 6 ก็ตอบถามค้านทนายโจทก์ที่ 1 ว่า ทางพิพาทแต่ก่อนเป็นทางเดิน เหตุที่มีการพิพาทคดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ที่ 2 เกรดขยายทางเข้าออกให้มีความกว้างเท่าเดิม จึงฟังได้ว่า ทางพิพาทมีอยู่ก่อนแล้วมิใช่เพิ่งมีขึ้นเมื่อปี 2540 พยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยทั้งหกนำสืบว่าแต่เดิมไม่เคยมีทางพิพาทและทางที่เข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ตั้งแต่สมัยนายมากและนางแก้วจนกระทั่งถึงโจทก์ที่ 1 นั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันตกอยู่ติดกับที่ดินของนางซ้อนเป็นคันนาปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล. 4 ภาพที่ 2 และ 3 ซึ่งตรงกับแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ. 8 ที่ทำเครื่องหมายดอกจันไว้ เมื่อศาลได้ออกเดินเผชิญสืบปรากฏว่าทางที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างหากเดินจากบ้านที่นายมากและนางแก้วปลูกสร้างอยู่ เปรียบเทียบกับทางพิพาทแล้ว ทางพิพาทมีระยะทางที่ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ใกล้กว่าทางที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้าง จึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 จะใช้คันนาตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างเดินออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ พยานหลักฐานของจำเลยทั้งหกมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์โดยใช้ทางดังกล่าวตั้งแต่ที่ดินของโจทก์ที่ 1 เป็นกรรมสิทธิ์ของนายมากและนางแก้ว จนกระทั่งต่อมาที่ดินดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 เป็นการใช้ทางพิพาทสืบเนื่องต่อกันมาด้วยความสงบโดยเปิดเผยโดยเจตนาใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเกินกว่า 10 ปี โจทก์ที่ 1 ย่อมได้สิทธิในทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้นำสืบให้ได้ความถึงการที่โจทก์ที่ 1 เข้าไปใช้ทางพิพาทว่าเป็นอย่างไร เป็นการใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต ไม่ได้รับความยินยอม ไม่ได้วิสาสะ แต่ใช้อย่างสงบ เปิดเผย เจตนาให้ได้ภาระจำยอมทางพิพาทโดยอายุความ ซึ่งภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์และพิพากษายกฟ้องนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในคดีไม่ได้ความว่าเคยมีการขออนุญาตหรือมีการให้ค่าทดแทนแก่จำเลยทั้งหกเพื่อใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออก ทั้งตามพฤติการณ์ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ที่ 1 ใช้ทางพิพาทโดยการถือวิสาสะ แสดงว่ามีการใช้ทางพิพาทอย่างประสงค์จะให้ได้สิทธิทางภาระจำยอมโดยมิได้อาศัยสิทธิของผู้ใด จึงนับได้ว่ามีลักษณะเป็นการใช้สิทธิที่เป็นปรปักษ์ต่อจำเลยทั้งหกผู้เป็นเจ้าของทางพิพาทแล้ว คำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น
อนึ่ง การรื้อลวดหนามออกจากทางพิพาทนั้น หากจำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล โจทก์ที่ 1 อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ได้อยู่แล้ว โจทก์ที่ 1 จะเป็นผู้รื้อถอนเองโดยให้จำเลยทั้งหกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายหาได้ไม่”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ 1 ที่ว่าถ้าจำเลยทั้งหกไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์ที่ 1 รื้อถอน โดยให้จำเลยทั้งหกเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

Share