คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปจอดคอยอยู่ที่ปากซอยบ้านผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 และพวก 2 คนเข้าไปปล้นทรัพย์ผู้เสียหายแล้วหนีมาขึ้นรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 2 และพวกหนีออกไปในลักษณะรีบร้อนเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ปล้นทรัพย์โดยแบ่งหน้าที่กัน จึงเป็นตัวการในความผิดฐานปล้นทรัพย์มาตรา 340 ตรี เป็นเพียงเหตุให้รับโทษหนักขึ้น มิใช่ความผิดอีกบทหนึ่งโดยเฉพาะศาลลงโทษโดยอ้าง มาตรา 340 ประกอบ มาตรา 340 ตรี

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 83, 371, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2514 มาตรา 3 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 รวม 14 ปี 7 เดือน ปรับ 60 บาทยกฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 21 ปี ตามมาตรา 340 ตรี และให้ร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 1,500 บาทแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของนายไพศิลป์หรือซ้งไปจอดคอยอยู่ที่ปั๊มน้ำมันปากซอยบ้านผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 และพวก 2 คน ปล้นทรัพย์ผู้เสียหายแล้วหนีมาขึ้นรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ขับหนีไป ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมปล้นทรัพย์ครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ประจักษ์พยานโจทก์มีนายบัญชาคนงานก่อสร้างที่ปั๊มน้ำมันเบิกความว่าเห็นคนร้ายวิ่งหนีออกมาจากซอย 3 คน คนแรกวิ่งเลยรถไป จำเลยที่ 1 เรียกไว้จึงหันกลับมาขึ้นรถทางด้านหลัง คนที่สองวิ่งมาที่รถขึ้นนั่งคู่กับจำเลยที่ 1 คนที่สามวิ่งถือปืนออกมา เอาปืนเหน็บเอวแล้วกระโดดขึ้นรถทางด้านหลังครั้งแรกพลาดแต่กระโดดขึ้นใหม่ทันเพราะรถเพิ่งเคลื่อน ส่วนนายประสิทธิ์ นางภิรมย์ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความทำนองเดียวกันว่า เห็นคนร้ายทั้งสามวิ่งหนีไปขึ้นรถยนต์ที่จอดรอที่ปั๊มน้ำมัน แล้วขับหนีไป คดีน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 ขับรถพาจำเลยที่ 2 และพวกหนี ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า นายคมว่าจ้างให้จำเลยไปขนของ ไปจอดรอที่ปั๊มประมาณ 20 นาที นายคมและพวกเดินออกมาว่าไม่ต้องขนของแล้วให้กลับไปส่งที่สะพานใหม่ จำเลยจึงขับรถออกไปส่งนายคมและพวกนั้น ไม่น่าเชื่อเพราะขัดกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนซึ่งให้การไว้ว่า นายคมและพวกวิ่งออกมาจากซอย นายคมเป็นคนเรียกให้พวกที่วิ่งเลยไปกลับมาขึ้นรถ และสั่งให้จำเลยออกรถเร็ว ๆ นอกจากนั้นวันเกิดเหตุผู้ใดเป็นผู้ว่าจ้าง ราคาค่าจ้างจำนวนเท่าใด ก็แตกต่างกับที่ให้การในชั้นสอบสวน ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยละเอียดแล้ว นายบัญชาพยานโจทก์จำทะเบียนรถคันเกิดเหตุได้ เจ้าพนักงานตำรวจตามไปพบเจ้าของรถ เจ้าของรถพาไปจับจำเลยที่ 1 ทันที จึงยังไม่ทันหลบหนี การที่จำเลยที่ 1 ขับรถพาจำเลยที่ 2 และพวกหนีออกไปในลักษณะรีบร้อนเช่นนี้ ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกปล้นทรัพย์ โดยแบ่งหน้าที่กัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

อนึ่งที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 83 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 340 ตรี นั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา 340 ตรี เป็นเพียงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 340 ต้องรับโทษหนักขึ้นเท่านั้น ลำพังเพียงมาตรา 340 ตรีโดยเฉพาะหาได้เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 83 ประกอบมาตรา 340 ตรี ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share