แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ท่ามกลางความชุลมุนหรือสับสนวุ่นวาย โดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ทำร้าย คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ไม่ว่าจะเกิดการชุลมุนหรือไม่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ย่อมมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91, 92, 295, 297, 299, 391 เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย และบวกโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3210/2545 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 3
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (ที่ถูก มาตรา 297 (8)), 299 วรรคแรก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 299 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ประกอบมาตรา 83 อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 เดือน จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจจำคุกคนละ 1 เดือน รวม 2 กระทง จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 4 เดือน จำเลยที่ 1 กระทำความผิดอีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ให้เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 5 เป็นโทษกักขังมีกำหนดคนละ 3 เดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3210/2545 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยที่ 3 รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 เดือน
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะจำเลยที่ 3 และที่ 4 รอจำเลยที่ 2 และที่ 5 ที่ศาลาหน้าสถานีอนามัยตำบลหนองม่วงไข่ จำเลยที่ 1 กับพวกนั่งรถจักรยานยนต์ผ่านมา จำเลยที่ 3 และที่ 4 กวักมือเรียกจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาหาเรื่องทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีสาเหตุกันมาก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 จอดรถ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชกต่อยจำเลยที่ 1 มีผู้มาห้ามปรามให้ทั้งสองฝ่ายแยกย้ายกันไป ต่อมาจำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่ง และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อีกฝ่ายหนึ่งได้สมัครใจวิวาทเข้าต่อสู้ทำร้ายกัน โดยจำเลยที่ 1 มีมีดพร้าเป็นอาวุธ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีท่อนไม้เป็นอาวุธคนละท่อน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย และจำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 วรรคแรก และเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ท่ามกลางความชุลมุนหรือสับสนวุ่นวาย โดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ทำร้าย คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ชัดว่าจำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่งกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ไม่ว่าจะเกิดการชุลมุนหรือไม่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ย่อมมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและเมื่อเป็นการสมัครใจวิวาท การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงมิใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งห้าในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5