แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงื่อนไขหลังสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ว่าเงินรางวัลจะจ่ายให้แก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับนั้นเป็นเพียงข้อกำหนดให้มีหลักฐานในการที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกรางวัล ไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่สลากหายไป เมื่อโจทก์มีหลักฐานเชื่อได้ว่าโจทก์ถูกรางวัลแต่สลากหาย ทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินให้
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 คงเหลือที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2511 โจทก์ซื้อสลากกินแบ่งของรัฐบาลหมาย ข.หมายเลขสลาก 828723 หนึ่งฉบับ กำหนดออกรางวัลในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2511 แล้วโจทก์ฉีกสลากกินแบ่งส่วนล่างให้นางบุญเรือง ภรรยาโจทก์เก็บไว้ ส่วนบนโจทก์เก็บไว้เอง วันที่ 13 เดือนเดียวกัน โจทก์ตรวจผลของการออกสลาก ปรากฏว่าสลากกินแบ่งดังกล่าวถูกรางวัลที่ 2 แต่สลากส่วนล่างที่มอบให้นางบุญเรืองไว้หายไปในวันที่ 14 เดือนเดียวกันโจทก์นำสลากส่วนบนไปรับเงินรางวัลจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและแจ้งให้ทราบถึงสลากส่วนล่างที่หาย และแจ้งความไว้แล้ว พันตำรวจตรีพร้อม ห่อทอง ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ทราบถึงเรื่องที่โจทก์แจ้งความไว้แล้ว
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2511 โจทก์ไปขอรับเงินรางวัลสำหรับสลากส่วนที่หายเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่จ่ายให้ จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินรางวัลพร้อมด้วยดอกเบี้ย 20,083 บาทให้โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 20,000 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ และเสียค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาลหมายเลข 828723 หมาย ข.ส่วนล่างดังฟ้อง ทั้งไม่มีหลักฐานอื่นใดแสดงว่าเป็นเจ้าของ จำเลยได้กำหนดเงื่อนไขไว้หลังสลากทุกฉบับโดยชัดแจ้งว่า “เงินรางวัลจะจ่ายให้แก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ” จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามข้อผูกพันที่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินสองหมื่นบาทให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับไปทั้งสองฝ่าย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสองศาล 600 บาทแทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเชื่อว่าสลากกินแบ่งฉบับดังกล่าวนี้ ส่วนล่างเป็นของโจทก์และได้หายไปจริงดังฟ้องที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าได้กำหนดเงื่อนไขไว้หลังสลากทุกฉบับโดยชัดแจ้งว่า “เงินรางวัลจะจ่ายให้แก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ” เงื่อนไขดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นเพียงเพื่อให้จำเลยที่ 1 มีหลักฐานในการที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกรางวัล ไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่สลากหาย และการที่จำเลยที่ 1 จัดให้มีการออกสลากกินแบ่งนั้น มีวัตถุประสงค์อยู่อย่างหนึ่งว่า จะแบ่งเงินที่ได้จากการขายสลากให้แก่ผู้ถูกสลากตามจำนวนที่กำหนดไว้จำนวนเงินที่กำหนดนี้ ถือได้ว่าเป็นสัญญาอันมีผลผูกพันระหว่างผู้จัดการออกสลากกินแบ่งกับผู้ถูกรางวัล ฉะนั้น เมื่อโจทก์มีหลักฐานเชื่อได้ว่าโจทก์ถูกรางวัลแต่สลากหาย ก็เป็นหลักฐานเพียงพอที่จำเลยที่ 1 ควรต้องจ่ายเงินรางวัลให้โจทก์
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้หนึ่งพันสองร้อยบาทถ้วน