แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การคำนวณค่าปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ มาตรา 27 นั้น ต้องถือเอาราคาของในท้องตลาดอันเป็นราคาที่แท้จริง และรวมค่าอากรเข้าด้วย เป็นเกณฑ์ในการคำนวณ
การลักลอบนำข้าวออกนอกประเทศเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 กับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีเท่ากัน แต่การกระทำฐานพยายามนั้น พระราชบัญญัติศุลกากรถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 27 เสมือนกับเป็นความผิดสำเร็จลงโทษจำคุกได้ถึง 10 ปี แต่ตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอก ฯ ลงโทษได้เพียง 2 ใน 3 จำคุกได้อย่างสูง 6 ปี 8 เดือน จึงต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 (อ้างฎีกาที่ 1027/2504)
การกระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรนั้น ศาลต้องนำพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาใช้บังคับในการสั่งจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับ
จำเลยทั้ง 3 พยายามนำข้าวออกนอกประเทศ ข้าวสารเป็นของจำเลยที่ 2 จำนวน 6 กระสอบ เป็นของจำเลยที่ 3 จำนวน 6 กระสอบ จำเลยที่ 2,3 ไม่ได้สมคบกัน ส่วนจำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2,3 ดังนี้ เมื่อค่าปรับทั้งหมด 8002.56 บาท จึงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4001.28 บาท จำเลยที่ 2,3 คนละ 2000.64 บาท จำเลยที่ 2,3 รับสารภาพลดกึ่ง คงปรับคนละ 1000.32 บาท
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 32 บัญญัติว่า เรือ…รถ…หากใช้ในการย้าย ถอน ซ่อนเร้น หรือขนของที่ยังมิได้เสียภาษี… ให้ริบเสียสิ้น นั้น หากเจ้าของมิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องในการกระทำผิดแล้ว ศาลไม่ริบ (อ้างฎีกาที่ 193/2491) ฉะนั้น เมื่อศาลชั้นต้นยังมิได้ไต่สวน ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าเจ้าของรถยนต์ของกลางรู้เห็นเกี่ยวข้องในการกระทำหรือไม่ อัยการโจทก์ก็ค้านอยู่ว่ารู้เห็นเป็นใจ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินการไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๓ สมคบกันลักลอบนำเข้าข้าวสารเจ้า ๑๒ กระสอบ หนัก ๑,๒๐๐ กิโลกรัม ราคา ๓,๙๒๗.๖๐ บาท เป็นสินค้าต้องห้าม ต้องควบคุม และมีพระราชกฤษฎีกากำหนดควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร บรรทุกรถยนต์เลขทะเบียน อ.บ.๐๐๔๘๔ จากท้องที่อำเภอพิบูลมังษาหารจะออกไปเมืองเก่าหรือเมืองปากเซประเทศลาว โดยมิได้รับอนุญาตและเจตนาจะหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรที่จะต้องเสีย ๑๖๔.๙๖ บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๓,๔,๙ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ฯ ซึ่งสินค้าบางอย่าง(ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗,๓๔ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๗ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๗,๘,๙ ริบข้าวสาร รถยนต์ของกลางและจ่ายรางวัลแก่ผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยที่ ๑ ปฏิเสธ
จำเลยที่ ๒,๓ รับสารภาพ
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ ๑ สมคบกับจำเลยที่ ๒,๓ กระทำผิดตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๒,๓ ต่างทำผิดมิได้สมคบกัน การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็น ๒ กรรม เป็นผิดหลายกระทง ราคาข้าวสารของกลางกระสอบละ ๑๖๐ บาท พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามผิดพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๓,๔,๙ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗,๓๔ ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอก ฯ พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๙ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ซึ่งเป็นบทหนัก ลงโทษจำเลยที่ ๑ กระทงเดียว โดยปรับจำเลยคนละ ๔,๘๐๐ บาท จำคุกคนละ ๖ เดือน จำเลยที่ ๒,๓ รับสารภาพ ลดกึ่งตามมาตรา ๗๘ คงปรับคนละ ๒,๔๐๐ บาท จำคุกคนละ ๓ เดือน รอการลงโทษจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑ ปี จำเลยที่ ๒,๓ เป็นหญิงยกโทษจำคุกเสีย ริบข้าวสารและรถยนต์ของกลาง ให้จ่ายรางวัลแก่ผู้จับ ๔ ใน ๕ ส่วนของเงินค่าปรับ
นายทองคำ บุญดาว ร้องว่าเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง ไม่รู้เห็นเป็นใจที่จำเลยนำรถไปทำผิด ขอศาลสั่งคืนแก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจคำร้องเคลือบคุลม ผู้ร้องอาจขอคืนต่อพนักงานสอบสวนเกิน ๖๐ วันนับแต่วันยึด ตามกฎหมายถือว่าไม่มีเจ้าของ ตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นสั่งว่า แม้จะได้ความว่ารถยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดหรือไม่ก็ดี เป็นสิ่งพึงริบตามนัยแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอก ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๙ ให้ยกคำร้อง
โจทก์และผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยทำผิดดังศาลชั้นต้นวินิจฉัย แต่เป็นเพียงฐานพยายาม พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ ลงโทษ ๒ กระทง ปรับ ๙,๖๐๐ บาท จำคุก ๖ เดือน จำเลยที่ ๒,๓ ลงกระทงเดียว ปรับคนละ ๔,๘๐๐ บาท จำคุกคนละ ๖ เดือน จำเลยทั้งสามผิดฐานพยายาม ลงโทษ ๒ ใน ๓ คงปรับจำเลยที่ ๑ ๖,๔๐๐ บาท จำคุก ๔ เดือน รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒,๓ ปรับคนละ ๓,๒๐๐ บาท จำคุกคนละ ๔ เดือน ลดกึ่ง ปรับคนละ ๑,๖๐๐ บาท จำคุกคนละ ๒ เดือน ยกโทษจำคุก ยกอุทธรณ์นายทองคำผู้ร้อง
โจทก์และผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาปรึกษาแล้วได้ความว่า จำเลยนำข้าวสารบรรทุกรถยนต์ อ.บ. ๐๐๔๘๔ (ผู้ร้องอ้างว่าเป็นของตน) จะออกไปเมืองปากเซหรือเมืองเก่า ประเทศลาว โดยมิได้รับอนุญาตเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรซึ่งจะต้องเสียร้อยละ ๔.๒ เป็นเงิน ๑๖๔.๙๖ บาท เจ้าพนักงานจับได้ก่อนนำออกนอกประเทศ เป็นของนางจันทร์จำเลยที่ ๒ ภรรยาจำเลยที่ ๑ จำนวน ๖ กระสอบ เป็นของนางอนงค์จำเลยที่ ๓ จำนวน ๖ กระสอบ จำเลยที่ ๒,๓ มิได้สมคบกัน ส่วนจำเลยที่ ๑ ร่วมสมคบกับจำเลยที่ ๒,๓ ข้าวสาร ๑๒ กระสอบนี้กรมศุลกากรประเมินกระสอบละ ๓๐๐ บาทเศษ รวม ๑๒ กระสอบเป็นเงิน ๓,๙๒๗.๖๐ บาท แต่ทางพิจารณาได้ความว่าราคาในท้องตลาดกระสอบละ ๑๖๐ บาท ศาลล่างถือราคาท้องตลาดเป็นราคาแท้จริงเป็นหลักในการคำนวณค่าปรับ
โจทก์ฎีกาว่า ต้องถือเอาราคาที่กรมศุลกากรประเมินเป็นหลักในการคำนวณค่าปรับและต้องเอาอากรมาบวกรวมในการคำนวณด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา ๒๗ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ แก้ไขโดยฉบับที่ ๑๑ มาตรา ๓ ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงิน ๔ เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว และมาตรา ๓ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ บัญญัติเกี่ยวกับราคาว่า “คำว่า ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด หรือราคาแห่งของอย่างใดนั้น หมายความว่า ราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนขาเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันได้โดยไม่ขาดทุน ณ เวลา และที่ที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีหักทอนหรือลดหย่อนราคาอย่างใด ” ดังนี้ เห็นว่า การคำนวณค่าปรับก็ต้องถือเอาราคาในท้องตลาดอันเป็นราคาที่แท้จริง คือ ราคากระสอบละ ๑๖๐ บาท ๑๒ กระสอบ เป็นเงิน ๑,๙๒๐ บาท กับค่าอากรอีกร้อยละ ๔.๒ เป็นเงิน ๘๐.๖๔ บาท รวมเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท ๖๔ สตางค์ ปรับ ๔ เท่าเป็นเงิน ๘,๐๐๒.๕๖ บาท
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง และผิดพระราชบัญญัติศุลกากรด้วย ต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรซึ่งเป็นบทหนัก ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีความผิดต้องตามกฎหมาย ๒ พระราชบัญญัติดังกล่าว ความผิดฐานนำข้าวออกนอกประเทศตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี และปรับ ๕ เท่าของราคาสินค้า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงฐานพยายาม ลงโทษได้เพียง ๒ ใน ๓ ส่วนโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ให้ปรับเป็นเงิน ๔ เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ การกระทำของจำเลยในคดีนี้พระราชบัญญัติศุลกากรถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา ๒๗ เสมือนกับเป็นความผิดสำเร็จถ้าหากศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยก็ลงได้ถึง ๑๐ ปี แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่างนั้น การกระทำของจำเลยคดีนี้เป็นความผิดฐานพยายาม ศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยได้อย่างสูงเพียง ๖ ปี ๘ เดือนเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มีอัตราโทษหนักกว่า จึงต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ ตามแบบอย่างฎีกาที่ ๑๐๒๗/๒๕๐๔
โจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร ก็ต้องนำพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาใช้บังคับในการสั่งจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับ ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดให้ใช้บังคับแก่ความผิดซึ่งเกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการศุลกากรด้วย และมาตรา ๘ ให้จ่ายสินบนร้อยละ ๓๐ ของราคาของกลางหรือค่าปรับ ให้จ่ายรางวัลร้อยละ ๒๕ ของราคาของกลางหรือค่าปรับ ในกรณีไม่มีผู้นำจับ ให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำผิดร้อยละ ๒๐ ของราคาของหรือค่าปรับ ดังนี้ จึงต้องนำพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับในการสั่งจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับ คดีนี้ไม่มีผู้นำจับ จึงต้องจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับเป็นเงินร้อยละ ๒๐ ของราคาของกลาง
ส่วนรถยนต์ของกลาง ผู้ร้องอ้างว่าเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่ศาลสั่งริบ ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยนำรถไปใช้ในการกระทำผิด ขอให้สั่งคืนแก่ผู้ร้อง วินิจฉัยว่าศาลฎีกาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ มาตรา ๓๒ บัญญัติว่า เรือชนิดใด ๆ อันมีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตันก็ดี รถ เกวียน ยานพาหนะ หีบหรือภาชนะอื่นใดก็ดี หากใช้ในการ ย้าย ถอน ซ่อนเร้น ฤาขนของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี ฤาที่ต้องจำกัดฤาต้องห้าม ท่านให้ริบเสียสิ้น ซึ่งมีแบบอย่างฎีกาที่ ๑๙๓/๒๔๙๑ มีข้อเท็จจริงว่า เจ้าของรถจักรยานสามล้อให้ผู้อื่นเช่ารถไปแล้ว ผู้เช่าไปใช้บรรทุกของเพื่อนำออกนอกราชอาณาจักร อันเป็นผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรโดยเจ้าของรถผู้ให้เช่ามิได้รู้เห็น วินิจฉัยว่า เมื่อเจ้าของมิได้รู้เห็นเกี่ยวข้องในการกระทำผิดแล้ว ศาลไม่ริบ คดีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้ทำการไต่สวน ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าเจ้าของรถยนต์ของกลางได้รู้เห็นเกี่ยวข้องในการกระทำผิดหรือไม่ และอัยการโจทก์ก็คัดค้านว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะดำเนินการไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
พิพากษาแก้ว่าลงโทษ จำเลยทั้ง ๓ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗; (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๗ และ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๔ เดือน ปรับ ๔,๐๐๑.๒๘ บาท โทษจำคุกรอ ๑ ปี จำเลยที่ ๒,๓ ให้จำคุกคนละ ๓ เดือนปรับคนละ ๒,๐๐๐.๖๔ บาท ลดรับสารภาพคนละกึ่ง คงเหลือจำคุกคนละ ๔๕ วัน ปรับคนละ ๑,๐๐๐ บาท ๓๒ สตางค์ โทษจำคุกให้ยก ให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับเป็นเงินร้อยละ ๒๐ ของราคาของกลาง ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะข้อให้ริบรถยนต์ของกลาง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี นอกนั้นยืน