คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 144,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 240,520 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีเพียงส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เป็นการฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ ไม่จัดให้มีไฟฟ้าให้แสงสว่าง ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบทางหลวง ประมาทเลินเล่อไม่ดูแลตามหน้าที่ปล่อยให้จำเลยที่ 1 วางสิ่งของกีดขวางในทางเดินรถและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้รับเหมาซ่อมแซมถนนเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือคำสั่งที่ได้ให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง เหตุละเมิดทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 344,865 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 311,920 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่ได้เสียหายตามฟ้อง และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุความเสียหายหรือภัยอันตรายใด ๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 144,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 240,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 144,000 บาท โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 240,520 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้น ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีเพียงส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินที่ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 1 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share