แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา8(5)ที่ว่าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้เป็นแต่เพียงเหตุที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้นส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายมาตรา14ในศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา9หรือมาตรา10และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดล้มละลายก็ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียวแต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นมาประกอบที่พอแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้นย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรงจึงต้องเป็นไปโดยมีเหตุผลสมควรจริงไม่ใช่ให้ใช้กฎหมายล้มละลายเป็นเครื่องมือบีบคั้นลูกหนี้เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์74,826.66บาทซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนักลำพังแต่ทางนำสืบของโจทก์ซึ่งได้ความว่าได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วไม่ปรากฎว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อันเป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายเพียงอย่างเดียวโดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงอื่นมาสนับสนุนแสดงให้เห็นถึงฐานะของจำเลยว่าตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างใดรูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยได้ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที 13980/2528 รวมต้นเงินดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 74,826.66 บาท โจทก์ยังไม่ขอออกหมายบังคับคดีต่อศาลแพ่ง เพียงแต่นายเจษฎา ไชยราชผู้รับมอบอำนาจช่วงและนายกฤษฎา ดวงรัตน์ พนักงานของโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยเลย ปรากฎว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ก่อนฟ้องได้ให้นายกฤษฎา พนักงานของโจทก์ผู้มีหน้าที่ในการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไปสืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้ว และได้นำนายกฤษฎามาเบิกความยืนยันด้วยว่า พฤติการณ์ของจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง เข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้วนั้น เห็นว่าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5)ที่ว่า ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ อันเป็นข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังที่โจทก์อ้างนั้นเป็นแต่เพียงเหตุที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้เท่านั้นส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามฟ้องของโจทก์นั้นพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ใดล้มละลายก็ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียว แต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นมาประกอบที่พอแสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้นย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรง จึงต้องเป็นไปโดยมีเหตุผลสมควรจริง ไม่ใช่ให้ใช้กฎหมายล้มละลายเป็นเครื่องมือบีบคั้นลูกหนี้เมื่อพิเคราะห์ข้อนำสืบของโจทก์แล้ว จำเลยเป็นหนี้โจทก์74,826.66 บาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนัก อีกทั้งพยานโจทก์ดังกล่าวก็เบิกความอ้างลอย ๆ แต่เพียงว่า ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วไม่ปรากฎว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้จึงเห็นว่า ลำพังแต่ทางนำสืบของโจทก์ซึ่งได้ความตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงอื่นมาสนับสนุนแสดงให้เห็นถึงฐานะของจำเลยว่าตกอยู่ในสภาพหนี้สิ้นล้นพ้นตัวอย่างใด รูปคดียังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลจึงต้องยกฟ้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน