คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อกำหนดในพินัยกรรมได้กำหนดให้จัดการทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายโดยให้ผู้จัดการมรดกบริจาคทรัพย์สินให้แก่องค์การกุศลใด ๆ ตามแต่ผู้จัดการมรดกจะเห็นสมควรเป็นการชัดแจ้งและทราบได้แน่นอนแล้วว่าต้องมอบทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้เฉพาะเพื่อองค์การกุศลเท่านั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1706(3) และเมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่องค์การกุศลจึงต้องถือว่าผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายถูกตัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1608 วรรคท้ายผู้คัดค้านทั้งสองย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1727 หรือร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากนายเบอันต์ซิงห์ กุกเรยา ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายปรีตัมซิงห์ กุกเรยาหรือพี.เอส.กุกเรยาหรือกุกเรชา ผู้ตาย ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 18518/2533 ของศาลชั้นต้นและนางสาวภัทรจิต โชติกพณิชร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายปรีตัมซิงห์ในฐานะทายาทโดยธรรม ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 18106/2533 ของศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและทำคำสั่งร่วมกันโดยให้เรียกนายเบอันต์ซิงห์ว่าผู้ร้องเรียกนางสาวภัทรจิตว่าผู้คัดค้านและมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายปรีตัมซิงห์ต่อมานางสาวภัทรจิตและนางสาวสันนิภา โชติกพนิชหรือโชติกพณิชยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งนางสาวสันนิภาเป็นผู้จัดการมรดกของนายปรีตัมซิงห์เข้ามาในสำนวนคดีเดิม ศาลชั้นต้นให้เรียกนางสาวภัทรจิตว่าผู้คัดค้านที่ 1 เรียกนางสาวสันนิภาว่าผู้คัดค้านที่ 2
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำร้องขอเป็นใจความทำนองเดียวกันว่าผู้คัดค้านทั้งสองเป็นบุตรนายปรีตัมซิงห์ กุกเรยา หรือพี.เอส กุกเรยาหรือกุกเรชา ผู้ตาย ผู้ร้องมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยอ้างว่าพินัยกรรมระบุให้ผู้ร้องนำทรัพย์มรดกทั้งหมดอุทิศให้แก่องค์การกุศลใด ๆ ตามที่ผู้ร้องเห็นสมควรซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องที่ถูกต้องพินัยกรรมมีข้อกำหนดให้ผู้ร้องทำการแบ่งเป็นทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทแล้วจึงทำการบริจาคทรัพย์มรดกที่เหลือให้แก่องค์การกุศลต่าง ๆตามที่ผู้ร้องเห็นสมควร ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวมิได้กำหนดไว้ว่าให้ผู้ร้องทำการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทจำนวนเท่าใดและให้แก่องค์การกุศลอีกจำนวนเท่าใด จึงเป็นการให้ผู้ร้องกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706(3) พินัยกรรมที่ระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกจึงตกไป ผู้ร้องได้ปฎิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกอย่างร้ายแรงโดยนำเอาทรัพย์มรดกบางส่วนไปบริจาคให้แก่บุคคลอื่น ใช้สิทธิผู้จัดการมรดกไปในทางที่ไม่ชอบ กลั่นแกล้งฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ทายาทหลายคดีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับทายาทมิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวขอแบ่งทรัพย์มรดกตามสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย ทั้งมิได้ให้ทายาทรับรู้ในการจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกขอให้มีคำสั่งว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นโมฆะและสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านที่ 2เป็น ผู้จัดการมรดกแทน
ผู้ร้องคัดค้านว่า พินัยกรรมได้ระบุให้ผู้ร้องจัดการและอุทิศเงินสดหรือเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายทรัพย์สินของผู้ตายให้แก่องค์การกุศลใด ๆ ตามที่เห็นสมควร ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆะ ผู้ร้องปฎิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกผู้จัดการมรดกด้วยความสุจริตและไม่เคยละเว้นการปฎิบัติหน้าที่หรือปฎิบัติหน้าที่ในทางมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านทั้งสองตัดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรมไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้เพิกถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ศาลตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้คัดค้านทั้งสอง
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเป็นภาษาอังกฤษ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองมีว่าผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมถูกตัดโดยพินัยกรรมดังกล่าวจนมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายหรือไม่ ผู้คัดค้านทั้งสองนำนายวิรัติ ธรรมศักดิ์ ผู้แปลพินัยกรรมมาเบิกความเป็นพยานว่าข้อกำหนดในพินัยกรรมมีความหมายว่า “ให้บุคคลผู้นี้ทำการแบ่งทรัพย์มรดก แล้วจึงทำการบริจาคทรัพย์มรดกอื่น ๆ ให้แก่องค์การกุศลต่าง ๆ ที่ตนจะเห็นสมควรต่อไป” ตามคำแปลเอกสารหมาย รค.18 และมีคำแปลของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า “เข้าจะเป็นผู้จัดแบ่งและบริจาคเงินเพื่อการกุศลใด ๆ ก็สุดแล้วแต่เขาจะเห็นสมควร” ตามคำแปลเอกสารหมาย รค.71 นั้นผู้คัดค้านทั้งสองเห็นว่าตามคำแปลดังกล่าวระบุหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดกไว้ 2 ประการ คือ แบ่งทรัพย์มรดกประการหนึ่ง กับบริจาคทรัพย์มรดกอีกประการหนึ่งแม้ว่าในพินัยกรรมมิได้ระบุให้ทายาทเป็นผู้รับทรัพย์มรดกแต่ก็หามีข้อความใดระบุตัดทายาทออกจากกองมรดก ถ้าหากผู้ทำพินัยกรรมเจตนาจะยกทรัพย์มรดกให้องค์การกุศลอย่างเดียวเหตุใดจึงเขียนคำว่า “จัดแบ่ง” ลงไปในพินัยกรรมทำไมไม่เขียนเฉพาะคำว่า “บริจาค” ไว้เพียงคำเดียวเห็นว่า ข้อความตามคำแปลข้างต้นดังกล่าวมีความหมายว่าให้ผู้ร้องจัดแบ่งทรัพย์มรดกเพื่อบริจาคให้แก่องค์การกุศลต่าง ๆตามที่ผู้ร้องเห็นสมควร ซึ่งเป็นการบริจาคทรัพย์มรดกทั้งหมดของผู้ตาย เจตนารมณ์ของผู้ตายจะเห็นได้จากการที่ผู้ตายไม่ได้ระบุให้ทายาทได้รับทรัพย์มรดกหรือกำหนดสัดส่วนว่าให้ทรัพย์มรดกได้แก่ทายาทเท่าใด บริจาคให้องค์การกุศลเท่าใดซึ่งถ้าหากผู้ตายมีเจตนารมณ์ตามความเข้าใจของผู้คัดค้านทั้งสองแล้วก็ย่อมจะกำหนดสัดส่วนไว้ให้ชัดเจนว่าจะให้ทรัพย์มรดกแก่ทายาทเท่าใดและจะให้แก่องค์การกุศลเท่าใด ซึ่งตรงกับคำแปลของนายรุจิระ บุญนาค ตามเอกสารหมาย รค.10 ความว่า”เขาจะจัดการและอุทิศเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายทรัพย์สินของข้าพเจ้า (moneys)ให้แก่องค์การการกุศลใด ๆ ตามที่เขาเห็นสมควร” และคำแปลของสถาบันภาษาจุฬาฯที่ว่า “นายเบอันต์ ซิงห์กุกเรยา มีอำนาจที่จะมอบและบริจาคเงินให้แก่องค์กรกุศลใด ๆ ก็ได้ตามแต่เขาจะเห็นสมควร “ตามสำเนาคำแปลเอกสารหมาย ร.52 และเมื่อข้อกำหนดในพินัยกรรมได้กำหนดให้จัดการทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายโดยให้ผู้จัดการมรดกบริจาคทรัพย์สินให้แก่องค์การกุศลใด ๆ ตามแต่ผู้จัดการมรดกจะเห็นสมควรเป็นการชัดแจ้งและทราบได้แน่นอนแล้วว่าต้องมอบทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้เฉพาะเพื่อองค์การกุศลเท่านั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706(3)และเมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่องค์การกุศลกุศลจึงต้องถือว่าผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายถูกตัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้คัดค้านทั้งสองย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1727 หรือร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713
พิพากษายืน

Share