คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4638/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทมาในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกและครอบครองต่อมา ถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วยโจทก์ทายาทคนหนึ่งฟ้องคดีเรียกร้องให้แบ่งที่ดินพิพาทเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตายหรือนับแต่โจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ดังนี้ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ การที่ต่อมาจำเลยจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงพิพาทมาเป็นของตน ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยแจ้งเจตนาของตนให้โจทก์ทราบ ย่อมไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนลักษณะการยึดถือตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381จึงไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองเหนือที่ดินแปลงพิพาทส่วนของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายยิน แซ่อื้อบุตรโจทก์ ตามคำสั่งศาล จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิจะโอนที่พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนแต่ผู้เดียว โจทก์ติดต่อขอรับส่วนแบ่งมรดกจากจำเลยแล้ว แต่จำเลยไม่ยินยอม ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทมิได้เป็นมรดก จำเลยและบุตรได้ครอบครองและทำกินในที่พิพาททั้งแปลงโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องมาเกินกว่า 1 ปีแล้วคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์หนึ่งในสี่ส่วนหากแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดนำเงินสุทธิมาแบ่งแก่โจทก์หนึ่งในสี่ส่วนคำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายยิน แซ่อื้อและเป็นผู้จัดการมรดกของนายยินตามคำสั่งศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 396/2527 ของศาลชั้นต้น นายยินกับจำเลยมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กหญิงละออศรี แซ่อื้อ และเด็กชายมีศักดิ์ แซ่อื้อ โจทก์เป็นมารดาของนายยิน นายยินถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2526 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ที่ดินตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกของนายยิน ซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ในขณะนี้นายยินถึงแก่กรรมจนถึงเวลาที่โจทก์นำคดีมาฟ้องโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 ประเด็นมีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามข้อต่อสู้ของจำเลยหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยครอบครองที่ดินแปลงพิพาทไว้เพื่อตนเองและบุตรทั้งสองของจำเลย มิได้ครอบครองแทนโจทก์ในเมื่อจำเลยครอบครองทรัพย์ดังกล่าวมาเกิน 1 ปี นับตั้งแต่นายยินถึงแก่กรรม โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้อง คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความฟ้องแบ่งมรดก และที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินมือเปล่า ย่อมทำให้จำเลยและบุตรได้สิทธิครอบครองอีกโสดหนึ่งด้วยนั้น เห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายยิน จำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นมารดาของนายยินเจ้ามรดกเท่ากับรับว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมของนายยินเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(2)ประกอบกับตามคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ ซึ่งจำเลยยื่นต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่19 ตุลาคม 2527 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 430/2527 หมายเลขแดงที่ 396/2527 ของศาลชั้นต้นนั้น จำเลยรับว่าที่ดินตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 551 ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธรซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินแปลงพิพาทในคดีนี้เป็นทรัพย์มรดกของนายยินเจ้ามรดก และในสารบัญจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.1ซึ่งจำเลยมิได้ปฏิเสธว่าเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2527 จำเลยได้จัดการรับโอนที่ดินแปลงพิพาทมาในฐานะที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายยินเจ้ามรดกและไถ่ถอนจำนองตามหน้าที่ของผู้จัดการเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นจำเลยจึงขอรับโอนมาเป็นของตนเอง แสดงว่าก่อนเวลาดังกล่าวนี้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกยังแบ่งมรดกไม่สำเร็จ และจำเลยครอบครองที่ดินแปลงพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดก ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1745, 1748 ประกอบด้วยมาตรา 1368 แม้โจทก์จะฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายหรือนับแต่เมื่อโจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความและการที่จำเลยขอจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงพิพาทมาเป็นของตนเองในปี 2527 นั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยแจ้งเจตนาของตนให้โจทก์ทราบจึงไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนลักษณะการยึดถือ ตามนัยแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 และในกรณีเช่นนี้จึงเป็นการครอบครองที่ดินแทนโจทก์ด้วย ไม่ทำให้จำเลยและบุตรทั้งสองได้สิทธิครอบครองเหนือที่ดินแปลงพิพาทส่วนของโจทก์ดังที่จำเลยฎีกา”
พิพากษายืน

Share