แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเรื่องอายุความคดีอาญาไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้ว จะนำบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดอยู่หรือการขยายอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175,176มาใช้ในคดีอาญาไม่ได้ โจทก์ยื่นฟ้องคดีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ต่อศาลแขวงพระนครใต้ภายในกำหนดอายุความในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ศาลแขวงพระนครใต้เห็นว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงจึงสั่งจำหน่ายคดีให้โจทก์ไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจภายใน 7 วัน โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญาภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ล่วงเลยกำหนดเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องการกระทำผิดและรู้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดแล้ว โดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ไว้ก่อน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 24, 43 วรรคสอง, 46 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์ทราบเรื่องการกระทำผิดและรู้ตัวจำเลยผู้กระทำผิดเมื่อวันที่19 สิงหาคม 2529 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่ในข้อหาความผิดในคดีนี้ต่อศาลแขวงพระนครใต้มาแล้ว เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2529ภายในกำหนดอายุความ ศาลแขวงพระนครใต้นัดไต่สวนมูลฟ้อง ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 17 ธันวาคม 2529 ศาลแขวงพระนครใต้เห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวง จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี ให้โจทก์ไปยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจภายใน 7 วัน โจทก์จึงยื่นฟ้องเป็นคดีเมื่อวันที่22 ธันวาคม 2529 ซึ่งเลยกำหนดเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องการกระทำผิดและรู้ตัวจำเลยทั้งสี่ผู้กระทำผิดแล้ว โดยโจทก์มิได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ก่อน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 เป็นความผิดอันยอมความได้ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 48 ซึ่งผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีเสียภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นคดีเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 คดีนี้โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวจำเลยทั้งสี่ผู้กระทำผิดเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2529 แต่มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2529 เกินกว่า 3 เดือนโดยมิได้ร้องทุกข์ไว้ก่อน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แม้โจทก์จะเคยฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงพระนครใต้ภายในอายุความ และศาลแขวงพระนครใต้สั่งให้โจทก์ไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจภายใน 7 วัน โดยในขณะที่สั่งนั้นจะพ้นกำหนดอายุความไปแล้วก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีเกินกำหนดอายุความตามกฎหมายไม่ สำหรับที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีจะต้องนำบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา175, 176 มาปรับแก่กรณีของโจทก์นั้น เห็นว่า เกี่ยวกับความผิดอาญาประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 ลักษณะ 1 หมวด 9 บัญญัติเรื่องอายุความคดีอาญาไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้ว โดยหาได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความสะดุดหยุดอยู่หรือการขยายอายุความดังที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175, 176 ด้วยไม่ ดังนั้น จะนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้ในคดีอาญาด้วยไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้นเป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ ไม่อาจนำมาเทียบกันได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน