คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือสัญญากู้เงิน เช็คพิพาทจึงมิได้ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เนื่องจากขณะที่ออกเช็คพิพาทนั้นหนี้ดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหน้งสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2541 เวลากลางวันจำเลยออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาวงศ์สว่าง จำนวน 4 ฉบับ ฉบับแรกและฉบับที่สอง ลงวันที่ 16 มกราคม 2541 จำนวนเงินฉบับละ 100,000 บาท ฉบับที่สามและฉบับที่สี่ ลงวันที่ 19 มกราคม 2541 จำนวนเงินฉบับละ 100,000 บาท ชำระหนี้เงินกู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คทั้งสี่ฉบับถึงกำหนด ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน เช็คฉบับแรกและฉบับที่สอง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 ให้เหตุผลว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย ฉบับที่สามและฉบับที่สี่ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2541 ให้เหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย การกระทำของจำเลย เป็นการออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค โดยขณะออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้นหรือถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะไม่ใช่เงินตามเช็คนั้นได้หรือห้ามธนาคารให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2) (3) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยเป็นเพื่อนกัน จำเลยออกเช็คพิพาทจำนวน 4 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.3, จ.5, จ.7 และ จ.9 เมื่อเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับถึงกำหนดชำระเงิน โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.4, จ.6, จ.8 และ จ.10
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีโจทก์เพียงลำพังเบิกความว่า ตั้งแต่ปี 2539 จำเลยกู้และรับเงินไปจากโจทก์หลายครั้ง แต่ไม่ได้ทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือจนกระทั่งมียอดหนี้ประมาณ 587,091 บาท ในปี 2541 จึงได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินตามฟ้องขึ้นไว้เป็นหลักฐานโดยจำเลยตกลงสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวจำนวน 6 ฉบับ แต่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้เพียง 4 ฉบับ คือเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.3, จ.5, จ.7 และ จ.9 ส่วนเช็คอีก 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 187,091 บาท นั้น โจทก์ได้รับชำระเงินจากจำเลยแล้วฝ่ายจำเลยนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบแก่โจทก์เพื่อเป็นการประกันหนี้ที่โจทก์ปล่อยเงินกู้แก่บุคคลทั่วไปโดยมีจำเลยเป็นคนกลาง จึงยันคำกันอยู่ อย่างไรก็ดี ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ลงวันที่ 7 มกราคม 2541 เอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์นำสืบนั้นไม่มีวันถึงกำหนดชำระหนี้ โดยได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเช็คที่จำเลยออกมอบแก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวจำนวน 6 ฉบับ ซึ่งรวมทั้งเช็คพิพาทว่าเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้าสั่งจ่ายลงวันที่ 16 มกราคม 2541 จำนวนเงิน 100,000 บาท รวม 3 ฉบับ และสั่งจ่ายลงวันที่ 19 มกราคม 2541 จำนวนเงิน 100,000 บาท รวม 2 ฉบับ กับสั่งจ่ายลงวันที่ 19 มกราคม 2541 จำนวนเงิน 87,091 บาท อีก 1 ฉบับ ที่สำคัญเป็นเช็คธนาคารเดียวกันทั้ง 6 ฉบับ และลำดับเลขของเช็คแต่ละฉบับก็บ่งบอกว่าเป็นเช็คสั่งจ่ายจากบัญชีเดียวกันทั้งหมดด้วย โดยโจทก์เองก็มิได้นำสืบอธิบายเหตุผลไว้ จึงผิดวิสัย ผิดธรรมดาที่จำเลยจะออกเช็คชำระหนี้ในมูลหนี้เดียวกันแก่เจ้าหนี้รายเดียว โดยลงวันที่สั่งจ่ายในวันเดียวกันหลายๆ ฉบับจากบัญชีเดียวกัน หรือโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้จะยอมรับการชำระหนี้ที่ยุ่งยากสับสนเหล่านี้ ประกอบกับโจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยยอมรับว่า หนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 ได้จัดทำขึ้นหลังจากที่โจทก์เดินทางไปอยู่ต่างประเทศ และได้ความจากนางภู อดีตลูกจ้างของโจทก์ซึ่งเป็นพยานในหนังสือสัญญากู้ดังกล่าวที่จำเลยอ้างมาเป็นพยานเบิกความว่า ในวันดังกล่าวเห็นแต่จำเลยมาทำสัญญากู้เท่านั้น ไม่มีการจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ และพยานไม่ทราบว่าเช็คที่ระบุไว้ในสัญญากู้นั้นจะมีการสั่งจ่ายกันล่วงหน้าไว้หรือไม่ คดีจึงน่าเชื่อเจือสมด้วยข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า ในวันทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 นั้น จำเลยมิได้ออกเช็คฉบับใดมอบแก่โจทก์ ดังนี้เมื่อเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 แม้จำเลยจะนำสืบยอมรับว่า จำเลยทำหนังสือสัญญาดังกล่าวในวันที่ 7 มกราคม 2541 ดังที่โจทก์อ้างในฎีกา แต่เช็คพิพาทเหล่านี้ก็มิได้ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เนื่องเพราะขณะเวลาที่ออกเช็คพิพาทนั้นหนี้ดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์นำเช็คอีก 2 ฉบับ ที่จำเลยออกพร้อมกับเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินไม่ได้ทั้งหมด แต่ก่อนฟ้องคดีจำเลยได้นำเงินไปชำระเช็ค 2 ฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วนั้น เห็นว่า แม้จำเลยชำระเงินตามเช็ค 2 ฉบับ ดังกล่าวให้แก่โจทก์ก็มิใช่ข้อพิสูจน์ว่าเช็คทั้ง 6 ฉบับ ดังกล่าวนี้มีมูลหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2543 มาตรา 4 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share