คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม2527 และนำไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2528และโจทก์ไม่ได้แจ้งการประเมินภาษีอากรให้จำเลยที่ 2 ทราบคงแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้น ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือเตือนไปยังจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2529 และวันที่ 2 เมษายน 2530 เพื่อให้ชำระเงินภาษีที่ค้างอยู่โดยหนังสือเตือนดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้ระบุแจ้งผลการประเมินตามรายการอากรสำแดง หรือมีรายการแยกแยะเป็นรายละเอียดภาษีอากรที่จะชำระเอาไว้แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่า เป็นการแจ้งการประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร แต่เป็นเพียงหนังสือทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามปกติดังเช่นหนี้ทั่วไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 อันเป็นเวลาภายหลัง2 ปี นับแต่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 จนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2528 จนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 1เป็นหนี้ค่าภาษีรวมสามล้านบาทเศษโดยจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในระหว่างที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นเงินหนึ่งล้านบาทเศษจำเลยทั้งสามเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2527 โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 2 ปีนับแต่จำเลยที่ 2 ออกมาแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด และมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 เด็ดขาดส่วนจำเลยที่ 2 ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1ไปจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2เด็ดขาด
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2527 และนำไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสำนักทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 กรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2528 แม้จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนจำเลยที่ 2 ออกไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1051 แต่โจทก์ไม่ได้แจ้งการประเมินภาษีอากรให้จำเลยที่ 2 ทราบคงแจ้งการประเมินภาษีอากรไปยังจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1ในขณะนั้น การที่โจทก์ส่งหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินภาษีที่ค้างอยู่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2529 และวันที่ 2 เมษายน 2530หนังสือเตือนดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้ระบุแจ้งผลการประเมินตามรายการอากรสำแดงหรือมีรายการแยกแยะเป็นรายละเอียดภาษีอากรที่จะชำระเอาไว้แต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งการประเมินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร แต่เป็นหนังสือทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามปกติดังเช่นหนี้ทั่วไป ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 อันเป็นเวลาภายหลัง 2 ปี นับแต่จำเลยที่ 2ออกจากการเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 ไปแล้วจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068 ที่บัญญัติว่าความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนตนออกจากหุ้นส่วนนั้นย่อมจำกัดสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share