แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จ้างเขียนแบบก่อสร้าง คิดสินจ้างตามระเบียบของสมาคมสถาปนิกแห่งกรุงสยามได้
สินจ้างเขียนแบบที่กำหนดจ่ายตามเวลาที่งานก่อสร้างเสร็จเป็นระยะ ๆ นั้น เป็นเรื่องกำหนดเวลาแบ่งจ่ายสินจ้างตามผลการก่อสร้าง ไม่ใช่กำหนดผลงานเขียนแบบที่คิดเป็นสินจ้างตาม มาตรา602
ย่อยาว
โจทก์เขียนแบบก่อสร้างให้จำเลย แต่การก่อสร้างทำไม่สำเร็จ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้าง 320,000 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่า (1) โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารตามโครงการยูเนียนโอเดียนราชเทวีจากบริษัทจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ได้อีกหรือไม่(2) โจทก์ออกแบบก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมโดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามระเบียบของสมาคมสถาปนิกสยามได้หรือไม่ (3) สิทธิเรียกร้องค่าจ้างของโจทก์ในการออกแบบก่อสร้างอาคารตามโครงการยูเนียนโอเดียนราชเทวีขาดอายุความหรือไม่
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ในปัญหาข้อ (1) นั้น ความปรากฏตามเอกสารหมาย จ.11 ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ตกลงจ้างเหมาให้โจทก์ออกแบบก่อสร้างอาคารและควบคุมงานก่อสร้างด้วย รวมค่าจ้างเป็นเงิน 500,000 บาท โดยสั่งจ่ายในวันทำหุ่นจำลองแบบร่างรายละเอียดเสร็จ 50,000 บาท จ่ายวันยื่นแบบทางเทศบาล 50,000 บาท จ่ายวันเริ่มลงมือก่อสร้าง 150,000 บาท ที่เหลืออีก250,000 บาทนั้นแบ่งจ่ายเป็นงวดตามงวดงานก่อสร้างงวดละเท่า ๆ กัน ครบจำนวนเมื่องานก่อสร้างเสร็จ บริษัทจำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงจ้างเหมากันดังกล่าวแม้จะไม่มีการก่อสร้าง แต่ก็ได้ความที่โจทก์นำสืบว่า เฉพาะค่าออกแบบก่อสร้างนี้ถ้าหากคิดจ้างตามระเบียบของสมาคมสถาปนิกสยามคือร้อยละ 4 ของงบประมาณค่าก่อสร้าง 14,000,000 บาท ค่าจ้างจะเป็นจำนวนเงินถึง 560,000บาท ซึ่งเห็นได้ว่าเกินกว่าค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ในเอกสารหมาย จ.11 ในการก่อสร้างอาคารตามโครงการยูเนียนโอเดียนราชเทวีนี้ ปรากฏว่าบริษัทจำเลยที่ 1ตกลงจ้างให้โจทก์ออกแบบเพิ่มเติมจากแบบเดิมอีก ค่าจ้างออกแบบเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงินเท่าใดนั้น ศาลชั้นต้นกำหนดให้คิดเพิ่มอีก 10 เปอร์เซ็นต์จากค่าจ้างเดิม คือค่าจ้างต้องเพิ่มอีก 50,000 บาท รวมค่าจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารตามเอกสารหมาย จ.11 และออกแบบก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.13กับค่าควบคุมงานก่อสร้างเป็นเงิน 550,000 บาท ปรากฏว่าโจทก์ทำงานออกแบบร่างรายละเอียดก่อสร้างให้บริษัทจำเลยที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้วคงเหลือแต่งานควบคุมการก่อสร้าง แต่การที่โจทก์ไม่ได้ควบคุมงานก็ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ ทั้งปรากฏว่าเนื่องจากไม่มีการก่อสร้างต่อไปนั้นโจทก์ได้ยอมลดค่าจ้างทั้งหมดให้อีก 10 เปอร์เซ็นต์ คือไม่ได้คิดค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้างรวมเข้าด้วย เมื่อหักค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้างออกแล้ว คงเหลือเป็นค่าจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารรวมทั้งที่ออกแบบเพิ่มเติมอีก เป็นเงิน 495,000 บาทบริษัทจำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างให้โจทก์แล้ว 175,000 บาท ยังไม่ได้ชำระอีก320,000 บาท โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารตามข้อตกลงดังเอกสารหมาย จ.11 และตามที่ออกแบบเพิ่มเติมจากแบบเดิมเอกสารหมาย จ.13 ในส่วนที่ยังไม่ได้รับชำระจากบริษัทจำเลยที่ 1 ได้อีก ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัทจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.11 เป็นเรื่องกำหนดผลงาน หรือการทำงานของโจทก์ ในแต่ระยะเป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงิน โจทก์จึงควรได้รับเงินค่าจ้างเพียงในส่วนของงานที่ได้ทำไปแล้วตามขั้นตอนของข้อตกลง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างในส่วนของงานที่ยังไม่ได้ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 202 ศาลฎีกาเห็นว่าข้อตกลงจ้างตามเอกสารหมาย จ.11 ที่ตกลงกันให้แบ่งจ่ายค่าจ้างเมื่อใดนั้นเป็นเรื่องกำหนดเวลาชำระเงินค่าจ้างให้โจทก์และชำระเป็นจำนวนเท่าใด ไม่ใช่เป็นเรื่องกำหนดผลงานหรือการทำงานของโจทก์แต่ละระยะเป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงิน เพราะการก่อสร้างหรือการลงมือก่อสร้างจะเริ่มเมื่อใดหาใช่งานของโจทก์ไม่ ทั้งไม่ปรากฏข้อกำหนดตามที่ตกลงจ้างว่าจะส่งรับงานกันเป็นส่วน ๆ และระบุค่าจ้างไว้เป็นส่วน ๆ ของงาน กรณีจึงนำบทบัญญัติมาตรา 602 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้
ในปัญหาข้อ (2) ได้ความว่าก่อนที่บริษัทจำเลยที่ 1 จะตกลงจ้างให้โจทก์ออกแบบก่อสร้างอาคารตามเอกสารหมาย จ.11 บริษัทจำเลยที่ 1 เคยจ้างให้โจทก์ออกแบบก่อสร้างอาคารอื่นมาแล้ว โจทก์คิดค่าจ้างออกแบบตามอัตราและระเบียบของสมาคมสถาปนิกสยาม ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4ถึง จ.7, จ.9 บริษัทจำเลยที่ 1 จึงต้องรู้ดีถึงเรื่องการคิดค่าจ้างของโจทก์ สำหรับการออกร่างก่อสร้างของอาคารเพิ่มเติมจากแบบร่างเดิมนั้นในเอกสารหมาย จ.17,18, จ.21, จ.23, จ.25, จ.27, จ.30 ก็มีข้อความปรากฏความยินยอมของบริษัทจำเลยที่ 1 ว่ายินดีจ่ายค่าแบบตามอัตราและระเบียบของสมาคมสถาปนิกสยามดังนี้ บริษัทจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าไม่ได้ตกลงยินยอมให้โจทก์คิดค่าจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารตามโครงการยูเนียนโอเดียนราชเทวีเอกสารหมาย จ.11และที่ออกแบบก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมจากแบบเดิมตามเอกสารหมาย จ.13นั้นรับฟังไม่ได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาค่าจ้างออกแบบรวมทั้งที่ออกแบบเพิ่มเติมดังกล่าวตามอัตราและระเบียบของสมาคมสถาปนิกสยาม ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์คิดค่าจ้างออกแบบก่อสร้างอาคารตามเอกสารหมาย จ.11 เพียง500,000 บาท โดยรวมค่าควบคุมการก่อสร้างเข้าด้วย และที่ออกแบบก่อสร้างเพิ่มเติมจากแบบเดิมตามเอกสารหมาย จ.13 ก็เพียง 50,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าอัตราและระเบียบของสมาคมสถาปนิกสยามอยู่แล้ว”
พิพากษายืน