คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4625/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 แก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 15 มาตรา 19 (ง) กำหนดเวลาเฉพาะการขอคืนเงินอากรว่าจะต้องขอภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไป มิได้มีบทบัญญัติว่าจะต้องคืนเมื่อใดหรือในกรณีที่จะไม่คืน จะต้องแจ้งให้ผู้ขอคืนทราบเมื่อใด จึงต้องพิจารณาตามการที่จะพึงปฏิบัติโดยปกติธรรมดาคือจะต้องคืนหรือแจ้งให้ผู้ขอทราบว่าคืนให้ไม่ได้ภายในเวลาอันสมควรเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเนิ่นนานถึง 6 ปีเศษ และเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องแล้ว จำเลยยังอ้างว่าอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะคืนให้หรือไม่อีก โดยไม่มีกำหนดเวลาว่าการพิจารณานั้นจะสิ้นสุดเมื่อใด เป็นการบ่ายเบี่ยงเสมือนไม่รับรู้สิทธิของโจทก์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว จึงมีอำนาจฟ้อง
ข้อที่จำเลยอ้างเป็นเหตุไม่คืนเงินอากรให้โจทก์ตามที่ขอก็คือน้ำหนักโดยเฉลี่ยต่อหลาของสินค้าผ้าที่โจทก์นำเข้าและส่งออกนั้นต่างกัน แต่การคำนวณหาน้ำหนักและความยาวของผ้าทั้งตอนนำเข้าและส่งออก ได้มาโดยวิธีคำนวณเอาจากข้อมูลที่ได้จากการสุ่มตัวอย่าง สินค้าผ้าดังกล่าวมีความยาวต่อม้วนตั้งแต่ 21 – 188 หลา มีสีต่างกัน 10 – 11 สี เมื่อความยาวของผ้าแต่ละม้วนแตกต่างกันอย่างมากและน้ำหนักของผ้าเป็นกรัมต่อหลาจะแตกต่างกันไปตามสีของผ้า การคำนวณโดยวิธีสุ่มตัวอย่างย่อมมีความคลาดเคลื่อนได้มาก ทั้งน้ำหนักเฉลี่ยต่อหลาที่ว่าต่างกันนั้น ต่างกันไม่ถึง 0.1 กิโลกรัมต่อหนึ่งหลา จะฟังเอาข้อแตกต่างที่ได้มาโดยคลาดเคลื่อนต่อความจริงและแตกต่างเพียงเล็กน้อยมาฟังว่าเป็นสินค้าคนละรายไม่ได้ ในชั้นตรวจปล่อยสินค้าพิพาท หากเป็นสินค้าคนละรายกับที่โจทก์นำเข้า เจ้าพนักงานของจำเลยน่าจะดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับกรณีเช่นนั้น แต่เจ้าพนักงานของจำเลยหาได้ดำเนินการใด ๆ คงตรวจปล่อยสินค้าพิพาทออกไป เพิ่งยกขึ้นอ้างเมื่อโจทก์ขอคืนเงินค่าภาษีอากร ข้ออ้างของจำเลยข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สั่งซื้อผ้าผืนทอด้วยฝ้ายล้วน ขนาดหน้าผ้า ๔๔/๔๕ นิ้วจากประเทศไต้หวันเข้ามาในราชอาณาจักร ๓ ครั้ง ต่อมาภายในกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์นำสินค้าเข้ามา โจทก์ได้ส่งสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวบางส่วนกลับออกไปนอกราชอาณาจักรหลายครั้งเพื่อขอคืนเงินอากรขาเข้า ๙ ใน ๑๐ ส่วนของที่ชำระไว้และขอคืนเงินอากรสำหรับของที่ส่งออกภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักร รวมเป็นเงินภาษีอากรที่โจทก์ขอคืนทั้งสิ้น ๘๙๖,๓๒๒.๑๐ บาท แต่จำเลยปฏิเสธไม่คืนเงินภาษีอากรจำนวนดังกล่าวการปฏิเสธของจำเลยไม่ชอบเพราะของที่โจทก์ส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นของรายเดียวกันกับที่โจทก์นำเข้า และโจทก์ส่งกลับออกไปที่ด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นท่าเรือหรือที่สำหรับส่งของออกเพื่อขอคืนเงินอากรขาเข้าได้ โจทก์ส่งกลับออกไปในสภาพและลักษณะเดิมของของที่นำเข้าภายในกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่นำของเข้า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ด้วยประการใด ๆไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณะใดของของที่นำเข้าและส่งกลับออกไป ทั้งได้ปฏิบัติตามระเบียบพิธีการส่งของกลับเพื่อขอคืนเงินอากรขาเข้าที่ชำระไว้ทุกประการ ขอศาลพิพากษาแสดงว่าการปฏิเสธไม่คืนเงินค่าภาษีอากรแก่โจทก์ของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการศุลกากร และบังคับจำเลยคืนเงิน ๘๙๖,๓๒๒.๑๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า สินค้าที่นำเข้าครั้งแรกและครั้งที่สอง เมื่อนำน้ำหนักและปริมาณมาคำนวณหาน้ำหนักเฉลี่ยเป็นกิโลกรัมต่อหนึ่งหลา เปรียบเทียบกับน้ำหนักเฉลี่ยของสินค้าที่ส่งออกปรากฏว่าแตกต่างกัน จำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นสินค้ารายเดียวกัน ไม่อาจพิจารณาคืนภาษีอากรให้ได้ ส่วนสินค้าที่นำเข้าครั้งที่สาม จำเลยกำลังพิจารณาว่าจะคืนภาษีอากรให้โจทก์หรือไม่ ยังมิได้ตอบปฏิเสธการคืนภาษีอากรให้โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีส่วนนี้มาฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน ๘๙๖,๓๒๒.๑๐ บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินอากรส่งออกสำหรับสินค้าที่นำเข้าครั้งที่สามหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงยุติตามคำให้การของจำเลยว่า โจทก์ได้นำสินค้าตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการค้าเลขที่ ๑๐๙๔ – ๓๐๖๐ และเลขที่ ๑๑๐๔ – ๔๙๘๐ออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วภายในหนึ่งปีนับแต่วันนำเข้าและได้ยื่นใบขอคืนอากรของส่งออกภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไป โดยยื่นขอคืนเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๒๔ และวันที่ ๑๑ธันวาคม ๒๕๒๔ จำเลยกำลังพิจารณาว่าจะคืนเงินอากรของส่งออกให้โจทก์หรือไม่ โดยยังไม่ได้ตอบปฏิเสธการคืนอากรให้โจทก์ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒แก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๙ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑๘ มาตรา๑๙ (ง) กำหนดเวลาไว้เฉพาะการขอคืนเงินอากรว่าจะต้องขอภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไป โดยมิได้มีบทบัญญัติว่าจะต้องคืนเมื่อใด หรือกรณีที่จะไม่ให้คืนจะต้องแจ้งให้ผู้ขอคืนทราบภายในเวลาเท่าใด ในกรณีเช่นนี้นั้นก็จะต้องพิจารณาตามการที่ควรจะพึงปฏิบัติโดยปกติธรรมดาโดยทั่วไป คือจะต้องคืนหรือแจ้งให้ผู้ขอทราบว่าคืนให้ไม่ได้ในเวลาอันสมควร สำหรับกรณีของโจทก์ในคดีนี้นั้น เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนจนถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคือวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๓๑นั้น เป็นเวลาเนิ่นนานถึง ๖ ปีเศษ และเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้วจำเลยก็ยังอ้างว่าอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะคืนให้หรือไม่ขึ้นมาอีก โดยไม่มีกำหนดเวลาให้รู้ได้ว่าการพิจารณานั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อใดที่จะให้โจทก์ทราบผลได้ กรณีเช่นนี้นั้นเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยบ่ายเบี่ยงไปทำเสมือนไม่รับรู้สิทธิของโจทก์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถือได้ว่าโจทก์ได้ถูกโต้แย้งสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรตามใบขนสินค้าขาออกรายพิพาทได้
ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับคืนเงินอากรส่งออกหรือไม่ เพียงใด ทั้งสองฝ่ายนำสืบต้องกันว่า สินค้าตามใบขนสินค้าขาออกรายพิพาทนั้น โจทก์ได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้ว โดยโจทก์ได้ระบุในใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าที่ส่งออกไปว่า เป็นสินค้าที่นำเข้าโดยเรือชื่ออะไร เที่ยววันที่เท่าไร ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่เท่าใด และได้ชำระอากรไว้เลขที่เท่าใด เมื่อใด ข้อที่จำเลยอ้างเป็นเหตุที่ไม่คืนเงินอากรให้โจทก์ตามที่ขอก็คือน้ำหนักโดยเฉลี่ยต่อหลาของสินค้าที่โจทก์นำเข้าและส่งออกนั้นแตกต่างกันพิเคราะห์แล้ว เรื่องน้ำหนักเฉลี่ยของของที่แตกต่างกันนั้น เกี่ยวกับการตรวจน้ำหนักของตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า ได้ความจากคำเบิกความของนายสุชาติ วัธนเมธากุลพยานจำเลยผู้ตรวจสินค้าขาเข้าตามใบขนสินค้าเลขที่ บี ๑๑๓ – ๐๔๓๗๔ ว่า นำสินค้าผ้าทั้ง ๔๐๓ ม้วนมาชั่ง แล้วหักน้ำหนักของแกนออก โดยนำแกนมาชั่งเพียงแกนเดียว ส่วนความยาวของผ้านั้นวัดโดยสุ่มตัวอย่างประมาณ ๒๐ ม้วน แล้วคำนวณหาน้ำหนักผ้า และความยาวของผ้าทั้งหมด มาหาน้ำหนักของผ้าต่อหลา ใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ บี.๑๑๓ – ๐๔๓๗๖ ได้ความตามคำเบิกความของนายสัมพันธ์แสงเดือนฉาย พยานจำเลยผู้ตรวจสินค้าขาเข้ารายนี้ซึ่งนำเข้ามา ๑๑๕ ม้วนว่า การวัดความยาวผ้าไม่ได้วัดทุกม้วนแต่สุ่มตัวอย่างประมาณ ๑๐ ม้วน ส่วนการหาน้ำหนักได้สุ่มตัวอย่างมาตรวจโดยการชั่งแล้วเฉลี่ยน้ำหนักเป็นหลา การตรวจหาน้ำหนักของตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้านั้น นายเฉลิมศักดิ์ เวชสุวรรณ พยานจำเลยผู้ตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนเลขที่ บี.๑๑๓ -๐๔๓๗๑ เบิกความว่า วัดความยาวของผ้าโดยการสุ่มตัวอย่างประมาณ ๒๐ ม้วน ชั่งน้ำหนักผ้าทุกม้วนหาน้ำหนักของแกนม้วนผ้าโดยสุ่มตัวอย่าง ๒๐ แกน ขึ้นชั่ง แล้วหาน้ำหนักเฉลี่ยออกมาต่อหนึ่งแกนจากนั้นหาน้ำหนักรวมทั้งหมด ๔๒๗ แกน นายพันธ์ชาติ เศษรฤทธิ์ พยานจำเลยผู้ตรวจสินค้าที่โจทก์ส่งออกตามใบขนสินค้าสินค้าขาออกเลขที่ ๑๑๐๔ – ๔๙๗๙ เบิกความว่า ไม่ได้ตรวจความยาวของผ้า ได้ชั่งน้ำหนักผ้าที่ส่งออกทั้งหมด วิธีชั่งก็นำผ้ามาก่อน ๑ ม้วน แกะเนื้อผ้าออก เอาแกนไปชั่งน้ำหนัก แล้วคูณด้วยจำนวนม้วนผ้าทั้งหมดคือ ๓๖ ก็จะได้น้ำหนักรวมของแกน จากนั้นก็นำผ้าทั้งหมดทุกม้วนขึ้นชั่งลบด้วยน้ำหนักแกนก็จะได้เป็นน้ำหนักผ้า นายอุดม สุ่นสวัสดิ์ พยานจำเลยผู้ตรวจสินค้าที่โจทก์ส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกเลขที่ ๑๐๙๔ – ๓๐๖๐ เบิกความว่า การวัดน้ำหนักของผ้าสุ่มตัวอย่างประมาณ ๑๐ ม้วน นำตัวผ้าม้วนที่เล็กที่สุดมาคลี่ผ้าออกแล้วนำแกนไปชั่ง จากนั้นก็นำผ้าม้วนอื่นที่สุ่มเอามาเป็นตัวอย่างมาชั่งพร้อมกับแกนแล้วหักน้ำหนักแกนออก ก็จะได้น้ำหนักสุทธิข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของพยานจำเลยดังที่กล่าว เป็นที่เห็นว่าการคำนวณหาน้ำหนักและความยาวของผ้าทั้งตอนนำเข้าและส่งออกนั้นได้มาโดยวิธีการคำนวณเอาจากข้อมูลที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างสินค้าผ้าของโจทก์ที่ส่งออกตามใบขนสินค้าขาออกเลขที่ ๑๑๓ – ๐๔๓๗๔ นั้น มีถึง๑๑ สี ความยาวของแต่ละพับ (ม้วน) มีตั้งแต่ต่ำสุด ๒๑ หลา ถึงสูงสุด ๑๘๘ หลา ตามรายการบัญชีบรรจุหีบห่อ เอกสารหมาย จ.๑๘ แผ่นที่ ๖ สินค้าตามใบขนสินค้าขาออกเลขที่ ๑๐๙๔ – ๕๘๔๙มี ๑๑ สี ความยาวของแต่ละพับ (ม้วน) มีตั้งแต่ ๒๑ – ๑๘๘ หลา ตามรายการบรรจุหีบห่อเอกสารหมาย จ.๒๐ แผ่นที่ ๒ สินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ บี.๑๑๓ – ๐๔๓๗๖ มี ๑๐ สีความยาวของแต่ละพับ (ม้วน) มีตั้งแต่ ๒๙ – ๖๖ หลา เมื่อความยาวของผ้าแต่ะม้วนนั้นแตกต่างกันอย่างมาก การหาความยาวของผ้าทั้งหมดทั้งที่นำเข้าและส่งออกแต่ละครั้งโดยการสุ่มตัวอย่างเป็นบางม้วนนั้น เป็นที่เห็นได้ว่าจะมีข้อคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเป็นอย่างมาก สินค้าผ้าที่โจทก์นำเข้าและสินค้าผ้าที่โจทก์ส่งออกไปนั้นมี ๑๐ – ๑๑ สี ในเรื่องสีนั้นน้ำหนักของผ้าเป็นกรัมต่อหลาจะแตกต่างกันไปตามสีของผ้า ดังปรากฏตามหนังสือรับรองของกรมวิทยาศาสตร์บริการ เอกสารหมาย จ.๑๒ การหาน้ำหนักของสินค้าที่นำเข้าและส่งออกแต่ละคราวโดยสุ่มเอาจากบางม้วนจึงเป็นที่เห็นได้ว่าจะได้น้ำหนักคลาดเคลื่อน และยิ่งเอาจำนวนความยาวที่คลาดเคลื่อนมาคำนวณหาน้ำหนักต่อหลาโดยเฉลี่ย ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจึงมีมากขึ้น และการหาค่าน้ำหนักเฉลี่ยต่อหลาทั้งการนำเข้าและส่งออกก็คำนวณเอาจากข้อมูลข้างต้น อันเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ข้อแตกต่างของน้ำหนักเฉลี่ยต่อหลานั้นต่างกันไม่ถึง ๐.๑ กิโลกรัมต่อหนึ่งหลา จึงจะฟังเอาข้อแตกต่างที่ได้มาโดยไม่ตรงความจริงและจำนวนเล็กน้อยนี้มาฟังตามจำเลยอ้างว่าเป็นสินค้าคนละรายไม่ได้ ในการที่โจทก์ได้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาออกและแบบแสดงรายการการค้าที่เป็นกรณีพิพาทนี้ โจทก์ได้ระบุลักษณะหีบห่อ และเครื่องหมายเช่นเดียวกับที่ได้ระบุไว้ในการนำเข้า ทั้งได้แสดงไว้ด้วยว่าเป็นสินค้านำเข้าเมื่อใด ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่เท่าใด และระบุด้วยว่าขอคืนอากรสำหรับของที่นำเข้า ซึ่งเจ้าพนักงานของจำเลยผู้ตรวจปล่อยสินค้ารายพิพาทก็มาเบิกความรับรองว่า เครื่องหมาย หมายเลขหีบห่อ ชนิด ความยาว และน้ำหนักตรงตามที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาออก จึงได้ตรวจปล่อยสินค้าตามใบขนขาออกที่เป็นกรณีพิพาทไป อันเป็นข้อที่แสดงให้เห็นว่าในชั้นตรวจปล่อยสินค้ารายพิพาทเจ้าพนักงานของจำเลยไม่มีข้อสงสัยว่าเป็นสินค้าคนละรายกับที่นำเข้า เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าสินค้าที่โจทก์ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามใบขนที่พิพาท เป็นสินค้ารายเดียวกับที่โจทก์นำเข้า ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าเป็นสินค้าคนละรายนั้นปรากฏตามใบขนสินค้าขาออกที่เป็นกรณีพิพาททุกฉบับว่าประทับตรายกเว้นอากรไว้ ซึ่งถ้าเป็นสินค้าคนละรายกับที่โจทก์นำเข้าจริง เจ้าพนักงานของจำเลยก็น่าจะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับกรณีเช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานของจำเลยได้ดำเนินการใด ๆ คงตรวจปล่อยสินค้ารายพิพาทออกไป เพิ่งยกขึ้นอ้างเมื่อโจทก์ขอคืนเงินค่าภาษีอากร ดังนั้นการที่จำเลยยกข้ออ้างนี้ขึ้นมาโดยที่จำเลยเองก็ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทกฎหมายในกรณีที่มีข้ออ้างดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่า ข้ออ้างของจำเลยนั้น จำเลยเองก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นจริง จึงไม่อาจรับฟังได้
พิพากษายืน.

Share