คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 213/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าทรัพย์พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยเอาไปแล้วเถียงกรรมสิทธิ จึงขอให้ศาลแสดงว่าทรัพย์นั้นเป็นของโจทก์ให้จำเลยคืนแก่โจทก์ เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยซื้อทรัพย์พิพาทนั้นไปจากการขายทอดตลาดโดยสุจริตแล้ว ศาลก็ไม่อาจจะบังคับเรียกคืนทรัพย์นั้นจากจำเลยได้เพราะโจทก์มิได้เสนอขดชดใช้ราคาตามหน้าที่ของตนตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา 1332 ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เรือโกลนไม้ตะเคียนทองพิพาท ๑ ลำ เป็นกรรมสิทธิของโจทก์ จำเลยได้บังอาจชักลากเอาไปเสีย และกลับเถียงกรรมสิทธิ จึงขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า เป็นเรือของโจทก์และให้ชักลากไปไว้ที่เดิม ฯลฯ
จำเลยให้การว่า จำเลยประมูลเรือพิพาทได้มาณะที่ที่ว่าการอำเภอ จึงเป็นกรรมสิทธิของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เรือพิพาทเป็นของโจทก์ เจ้าพนักงานเข้าใจผิด เอาไปขายทอดตลาด แม้จำเลยจะซื้อไปก็ไม่ได้กรรมสิทธิ พิพากษาว่าเรือพิพาทเป็นของโจทก์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเฉพาะแต่ในเรื่องกระทำละเมิด และเรียกทรัพย์คืน มิได้เสนอขอชดใช้ราคาตามหน้าที่ของตนตามมาตรา ๑๓๓๒ ประเด็นจึงมีแต่ว่า จำเลยซื้อทรัพย์พิพาทโดยสุจริตหรือไม่คือจำเลยได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิเรือพิพาทหรือไม่ ซึ่งตามรูปเรื่อง จำเลยมิได้รู้ถึงกรรมสิทธิของโจทก์เลย ทั้งผู้เข้าซื้อทอดตลาดก็ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องสอบสวนการกระทำของเจ้าพนักงานว่าถูกผิดกับกฎหมายบทนี้อย่างใด ฉะนั้นแม้โจทก์จะมีกรรมสิทธิในเรือพิพาทจริง ก็ไม่อาจจะบังคับเรียกคืนเรือโกลนนั้นจากจำเลย ดั่งฟ้องได้
จึงพิพากษายืน

Share