คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1154/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องหาว่าจำเลยได้สมคบกันพยายามจะก่อการกบถโดยจะกระทำการประทุษฐร้ายเพื่อทำลายรัฐบาล ฯลฯ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2491 เวลาใดไม่ปรากฎถึง วันที่ 2 ตุลาคม ปีเดียวกันเวลากลางวัน ฯลฯ ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นฟ้องที่ระบุวันเวลาจำกัดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้แล้ว กฎหมายหาได้บังคับให้แยกเป็นเวลา เป็นรายตัวบุคคลไม่ และไม่จำเป็นต้องแยกว่า จำเลยคนใดกระทำผิดอย่างใด เมื่อได้บรรยายการกระทำผิดมาพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ก็ย่อมเป็นฟ้องที่สมบูรณ์
การล้มล้างรัฐบาลเก่า ตั้งเป็นรัฐบาลขึ้นใหม่โดยใช้กำลังนั้น ในตอนต้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายจนกว่าประชาชนจะได้ยอมรับนับถือแล้ว เมื่อเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามความเป็นจริงคือหมายความว่า ประชาชนได้ยอมรับนับถือแล้ว ผู้ก่อการกบถล้มล้างรัฐบาลดั่งกล่าวก็ต้องเป็นผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 102

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้พิจารณารวมกัน โจทก์ฟ้องต้องกันว่าระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๑ เวลาใดไม่ปรากฎถึงวันที่ ๒ ตุลาคมปีเดียวกันเวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจสมคบกันพยายามจะก่อการกบถฯลฯ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๐๑ – ๑๐๒ – ๑๐๓ – ๑๐๔
จำเลยทุกคนปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่า พันเอกกิตติ ทัตตานนท์ พันโทประสพ ฐิติวร ร้อยโทบัญช่วย ศรีทองเกิด พันเอกหลวงจิตรโยธี พันเอกหลวงศรีสิงหสงคราม พันตรีชิน หงษ์รัตน์ ร้อยเอกหิรัญ สมัครเสวี ร้อยเอกสุรพันธ์ อิงคุลานนท์ และพลตรีเนตร เขมะโยธิน จำเลยรวม ๙ คน ได้พยายามก่อการกบถเพื่อล้มล้างรัฐบาลอันมีจอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีจริงดังฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยทั้ง ๙ มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๑๐๒ ตอนต้น ให้จำคุกคนละ ๓ ปี ข้อหานอกนี้ให้ยกเสีย จำเลยอีก ๑๓ คนให้ยกฟ้อง
โจทก์ และจำเลยที่ต้องโทษอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ต้องโทษฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คดี ๒ สำนวนนี้โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยได้สมคบกันพยายามก่อการกบถระหว่างวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๑ เวลาใดไม่ปรากฎถึงวันที่ ๒ ตุลาคม ปีเดียวกัน เวลากลางวัน ดังนี้ย่อมเป็นวันเวลาจำกัดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว กฎหมายหาได้บังคับให้แยกเป็นเวลา เป็นรายตัวบุคคลไม่ และไม่จำเป็นต้องแยกว่าจำเลยคนใดกระทำผิดอย่างใด
สำหรับปัญหาที่ว่า รัฐบาลที่จำเลยพยายามจะล้มล้างเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าการล้มล้างรัฐบาลเก่าตั้งเป็นรัฐบาลใหม่ขึ้นโดยใช้กำลังนั้น ในตอนต้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายจนกว่าประชาชนจะได้ยอมรับนับถือแล้ว คดี ๒ สำนวนนี้ศาลอาญาฟังข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลที่จำเลยคิดล้มล้างเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งหมายความว่า ประชาชนได้ยอมรับนับถือแล้ว และศาลอุทธรณ์ก็มิได้แก้ไขฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อ ๓ แม้จอมพลแปลก พิบูลสงครามจะเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน ๒๔๙๑ ภายหลังวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๑ และการกระทำของจำเลยสิ้นสุดลงในคืนวันที่ ๑ กับวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๔๙๑ ติดต่อกัน ไม่ถึงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๔๙๑ เวลากลางวันก็ดี ทั้ง ๒ ประการนี้เป็นเพียงโจทก์กล่าวข้อความในฟ้องเกินไปเท่านั้น ส่วนสาระสำคัญคงถูกต้องว่า ระหว่างวันเวลาที่จำเลยสมคบกันกระทำผิดนั้นมีจอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่จริง คำฟ้องที่เกินเลยไปไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ถึงกับเสีย
ฯลฯ
จึงพิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยเสีย

Share