คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4622/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 คู่ความ มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถ ของตนให้บริบูรณ์ได้ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อน มีคำพิพากษา ทั้งตามมาตรา 66 ก็ได้ให้อำนาจศาลทำการสอบสวนและ มีอำนาจยกฟ้อง หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างอื่นได้ ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม การที่จำเลย ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2528 ว่าใบแต่งทนายความ ของจำเลยฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2527 มี ส. มีกรรมการ ของจำเลย ซึ่งมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อร่วมกับ ธ.แต่งตั้งให้อ. เป็นทนายความโดย ส. เข้าใจผิดว่าตนมีอำนาจ จำเลยจึงยื่นใบแต่งทนายความใหม่ให้ถูกต้องนั้น คำร้องของจำเลยดังกล่าวเป็นการขอแก้ไขข้อบกพร่องเรื่อง ความสามารถ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตตามคำร้อง ดังกล่าวก่อนมีคำพิพากษาจึงเป็นคำสั่งที่ชอบและมีผลย้อนหลัง ไปถึงวันที่สั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย และปัญหาข้อนี้ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้โจทก์จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งแต่เมื่อโจทก์ได้หยิบยกขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เมื่อโจทก์ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยให้ จำเลยฟ้องแย้งว่า จำเลยจ้างโจทก์ซ่อมแซมคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น โจทก์ไม่สามารถซ่อมให้ใช้การได้และแล้วเสร็จตามสัญญาจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์ซ่อมให้ใช้การได้ แต่โจทก์เพิกเฉย ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงฟ้องแย้ง เรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยฟ้องแย้ง เรียกค่าเสียหายจากโจทก์เพราะโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญา หาใช่ฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดเพื่อการชำรุดบกพร่อง ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 ซึ่งมีอายุความ1 ปี ไม่ ดังนั้นฟ้องแย้งของจำเลยจึงมีอายุความ 10 ปีตามมาตรา 164 ฟ้องแย้งของจำเลยย่อมไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าขายเครื่องปรับอากาศตู้เย็น เครื่องใช้ไฟฟ้า กับรับจ้างซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศตู้เย็น เครื่องทำน้ำเย็น เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2525จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ใช้ซ่อมแซมคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็นขนาด 60 คิดเป็นเงิน 50,500 บาท เมื่อโจทก์ซ่อมเสร็จ จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้ จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องใช้ค่าเสียหายคิดเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 4กุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้50,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ว่าจ้างให้โจทก์ซ่อมแซมเครื่องทำความเย็นรวมเป็นเงินค่าจ้าง 50,500 บาทเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2525 จริง ต่อมาเมื่อวันที่ 4ธันวาคม 2525 โจทก์ได้นำคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็นซึ่งโจทก์ซ่อมแล้วมาติดตั้งให้จำเลย ปรากฏว่าเครื่องทำความเย็นใช้การไม่ได้ เช่นเกิดกลิ่นไหม้ เครื่องเดินขัดข้อง ไม่สามารถที่จะใช้งานได้ตามปกติ โจทก์จึงซ่อมให้จำเลยใหม่ โจทก์ซ่อมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2526 แต่เครื่องทำความเย็นก็ยังใช้การไม่ได้ แล้วโจทก์เพิกเฉย ไม่ซ่อมแซมให้จำเลยอีกจำเลยจึงว่าจ้างให้ร้าน ต.สยามชัยอีเล็คทริคทำการซ่อมแซมแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2526 เป็นเงินทั้งสิ้น 44,100 บาทถือว่าโจทก์ผิดสัญญาจ้างในเรื่องระยะเวลาและโจทก์ไม่สามารถซ่อมแซมให้ใช้การได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้าง หากฟังว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าจ้างซ่อม ค่าซ่อมก็ไม่เกิน 14,400 บาทเพราะจำเลยต้องจ้างร้าน ต.สยามชัยอีเลคทริคซ่อมใหม่อีกเป็นเงิน 44,100 บาท โจทก์จึงต้องหักค่าจ้างที่จำเลยต้องจ้างร้าน ต.สยามชัยอีเล็คทริคออกเสียก่อน เมื่อหักแล้วโจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าจ้างจากจำเลยเป็นเงิน 14,400 บาท เนื่องจากโจทก์ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าดอกเบี้ยจากจำเลยอีกทั้งจำเลยไม่เคยตกลงหรือสัญญากับโจทก์ว่า จะชำระดอกเบี้ยในอัตราตามที่โจทก์ฟ้อง การผิดสัญญาของโจทก์ดังกล่าวทำให้จำเลยได้รับความเสียหายต่าง ๆ เป็นเงินวันละ 88,500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2526 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2526 เป็นเวลา 37 วันคิดค่าเสียหายทั้งสิ้น 3,274,500 บาท แต่จำเลยคิดเพียง 200,000บาท จำเลยทวงถามโจทก์หลายครั้ง แต่โจทก์เพิกเฉยขอศาลบังคับให้โจทก์ชำระค่าเสียหายให้จำเลยเป็นเงิน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า กำหนดระยะเวลาซ่อมเป็นเพียงประมาณการไว้เท่านั้น โจทก์ได้ซ่อมเสร็จภายในกำหนดเวลาแล้วแต่เนื่องจากมีอุปกรณ์ส่วนอื่นที่ไม่เห็นประจักษ์และไม่อยู่ในรายการงานที่โจทก์ต้องรับผิดชอบจึงทำให้มีการตรวจสอบเพื่อรับมอบงานเนิ่นช้าไปจนกระทั่งจำเลยได้รับมอบงานเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2526 โดยจำเลยมิได้โต้แย้งทักท้วงการที่จำเลยว่าจ้างให้ร้าน ต.สยามชัยอีเล็คทริคทำการซ่อมไม่เป็นความจริง ถ้าหากมีการซ่อมโดยผู้อื่นในภายหลัง ก็เป็นการเสียหายในอุปกรณ์ส่วนอื่นที่ไม่ใช่งานของโจทก์ หรือที่โจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบ ทั้งเป็นเหตุที่เกิดภายหลังงานของโจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่ได้เสียหายตามที่อ้าง ความเสียหายที่จำเลยอ้างหาใช่เกิดจากโจทก์ ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุม เพราะไม่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าเครื่องทำความเย็นที่ใช้การไม่ได้นั้นเพราะเหตุอะไร และจำเลยได้ว่าจ้างร้าน ต.สยามชัยอีเล็คทริคซ่อมอะไรบ้าง คดีของจำเลยขาดอายุความเพราะเกิน 1 ปีแล้วจำเลยไม่มีสิทธินำค่าเสียหายมาหักจากค่าจ้างโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยจำนวน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยให้กรรมการคนหนึ่งของจำเลยซึ่งไม่มีอำนาจทำการแทนจำเลยลงชื่อในใบแต่งทนายตั้งให้นายอมร ตรีบุสยะรัตน์ เป็นทนายความ นายอมรจึงไม่มีอำนาจยื่นคำให้การและฟ้องแย้งแทนจำเลย ถือว่าจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง การที่นายอมรยื่นใบแต่งทนายความใหม่ต่อศาลโดยกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยลงชื่อในใบแต่งทนายและศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตเป็นการไม่ชอบและไม่มีผลย้อนหลัง เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องความบกพร่องในเรื่องความสามารถของคู่ความ แต่เป็นเรื่องกระทำการโดยปราศจากอำนาจมาแต่แรก จึงไม่อาจให้สัตยาบันได้ สำหรับปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง แต่เมื่อโจทก์ได้หยิบขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ให้ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 คู่ความมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของตนให้บริบูรณ์ได้ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา ทั้งตามมาตรา 66แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว ได้ให้อำนาจศาลทำการสอบสวนและมีอำนาจยกฟ้อง หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม การที่จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2528 ว่าใบแต่งทนายความของจำเลยฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2527 มีนายสรรเสริฐ ชุณหนิรันฤทธิ์กรรมการของจำเลย ซึ่งมิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อร่วมกับนายธเนศ คูวินิชกุล แต่งตั้งให้นายอมรเป็นทนายความโดยนายสรรเสริญเข้าใจผิดว่าตนมีอำนาจ จำเลยจึงยื่นยื่นใบแต่งทนายความให้ถูกต้องนั้น คำร้องของจำเลยดังกล่าวเป็นการขอแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องความสามารถ ดังนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องดังกล่าวก่อนมีคำพิพากษา จึงเป็นคำสั่งที่ชอบและมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่สั่งรับคำให้การ และฟ้องแย้งของจำเลย
ที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความ 1 ปีนั้นศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยฟ้องแย้งว่า จำเลยจ้างโจทก์ซ่อมแซมคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น โจทก์ไม่สามารถซ่อมให้ใช้การได้และแล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์ซ่อมให้ใช้การได้ แต่โจทก์เพิกเฉย ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์เพราะโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญา หาใช่ฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดเพื่อการชำรุดบกพร่อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 600 ซึ่งมีอายุความ 1 ปีไม่ ดังนั้นฟ้องแย้งของจำเลยจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164ฟ้องแย้งของจำเลยย่อมไม่ขาดอายุความ
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงต้องชำระค่าจ้างตามฟ้องแก่โจทก์ และจำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ตามฟ้องแย้งนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ซ่อมคอมเพรสเซอร์แล้วเสร็จจนใช้การได้ และส่งมอบงานให้แก่จำเลยในวันที่ 27 มกราคม 2526 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างไรก็ตาม หลังจากครบกำหนด 20 วัน ในวันที่ 6 ธันวาคม 2525และคอมเพรสเซอร์ที่โจทก์ซ่อมแซมยังใช้การไม่ได้ จำเลยยังคงให้โจทก์ซ่อมต่อไปอีกหลายครั้ง โดยซ่อมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่29 มกราคม 2526 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากครบกำหนดแล้วถึงหนึ่งเดือนเศษ โดยมิได้บอกเลิกสัญญาแต่อย่างใด ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์และจำเลยหาได้มีเจตนาถือเอากำหนดระยะเวลาการซ่อมแล้วเสร็จเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใดไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จำเลยอ้างว่าหลังจากโจทก์ส่งช่างมาซ่อมคอมเพรสเซอร์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2526แต่ยังใช้การไม่ได้แล้ว จำเลยได้ติดต่อโจทก์หลายครั้ง แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมส่งช่างมาซ่อมคอมเพรสเซอร์อีก จำเลยจึงจ้างให้ร้าน ต.สยามชัยอีเล็คทริคซ่อมจนใช้การได้ โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ยอมให้ช่างของโจทก์เข้าไปซ่อมคอมเพรสเซอร์ในโรงงานของจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยยังไม่ได้ชำระเงินค่าจ้างซ่อมคอมเพรสเซอร์ให้แก่โจทก์เลย ประกอบกับโจทก์ได้ให้ช่างของโจทก์ทำการซ่อมคอมเพรสเซอร์แล้วหลายครั้งด้วยกัน จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่โจทก์จะทิ้งงานไม่ส่งช่างไปซ่อมคอมเพรสเซอร์ให้แก่จำเลยอีกภายหลังจากวันที่ 29 มกราคม 2526 แล้วโดยยอมทั้งเงินค่าจ้างซึ่งเป็นจำนวนถึง 50,500 บาท จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นฝ่ายไม่ยอมให้ช่างของโจทก์เข้าไปซ่อมคอมเพรสเซอร์ในโรงงานของจำเลยเองหาใช่โจทก์ไม่ยอมส่งช่างไปซ่อมคอมเพรสเซอร์ให้จำเลย ดังที่จำเลยอ้างไม่ กรณีไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างดังนั้นจำเลยจึงต้องชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ตามผลงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้ว และจำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้งจากโจทก์เพราะเป็นความผิดของจำเลยเองที่ไม่ยอมให้โจทก์ซ่อมคอมเพรสเซอร์ต่อไปจนแล้วเสร็จและใช้การได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจำเลยไม่ยอมให้โจทก์ซ่อมคอมเพรสเซอร์แล้ว จำเลยได้จ้างให้ร้าน ต.สยามชัยอีเลคทริคซ่อมคอมเพรสเซอร์ต่อจากโจทก์จนแล้วเสร็จใช้การได้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 และ ล.2การที่โจทก์ซ่อมคอมเพรสเซอร์ให้จำเลย แต่ไม่อาจใช้การได้จนจำเลยต้องจ้างให้ร้าน ต.สยามชัยอีเลคทริคซ่อมต่อจนกระทั่งใช้การได้ จำเลยชอบที่จะได้ลดสินจ้างลงจึงเห็นสมควรให้จำเลยใช้ค่าจ้างแก่โจทก์ โดยหักค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่ร้าน ต.สยามชัยอีเลคทริค เฉพาะคอมเพรสเซอร์เครื่องที่ซ่อมต่อจากโจทก์เครื่องเดียว ตามเอกสารหมาย จ.10 ตามรายการเติมน้ำยาเพิ่ม 4,500 บาท พันคอมเพรสเซอร์ 18,000 บาทเติมน้ำยา F 22 จำนวนเงิน 8,200 บาท เปลี่ยนแป๊ปข้ออ่อนข้องอ 2,800 บาท ส่วนค่าแรงบริการจำนวน 6,000 บาท นั้นเป็นค่าแรงซ่อมคอมเพรสเซอร์ 3 เครื่อง จึงคิดค่าแรงเฉพาะเครื่องเดียวที่ซ่อมต่อจากโจทก์ซึ่งต้องซ่อมมากเป็นเงิน 4,000 บาทรวมเป็นค่าซ่อมที่หักให้เป็นเงิน 37,500 บาท เมื่อหักออกจากค่าจ้างที่โจทก์จำเลยตกลงกันจำนวน 50,500 บาท แล้วให้จำเลยใช้ค่าจ้างซ่อมคอมเพรสเซอร์แก่โจทก์เป็นเงิน 13,000 บาทข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงกันเรื่องอัตราดอกเบี้ยของเงินค่าจ้างหากมีการผิดนัด และฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2526 ตามฟ้อง เนื่องจากโจทก์ซ่อมคอมเพรสเซอร์ไม่แล้วเสร็จจนใช้การได้ตามสัญญา จึงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามกฎหมายในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2527 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดการบอกกล่าวทวงถามของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 จ.8 เป็นต้นไป
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,300 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่12 กรกฎาคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

Share