คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4620/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่1ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่2เพื่อให้จำเลยที่2ในฐานะนายทะเบียนผู้รับแจ้งตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ.2499มีคำสั่งย้ายชื่อโจทก์ซึ่งมีชื่อเป็นผู้อาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่96/2อันเป็นทะเบียนบ้านของจำเลยที่1ออกจากทะเบียนบ้านดังกล่าวไปอยู่ในทะเบียนคนบ้านกลางซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่จำเลยที่2มีคำสั่งอนุญาตให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของจำเลยที่1ได้เป็นช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ.2499ใช้บังคับอยู่ยังไม่ถึงวันที่พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ.2534มีผลใช้บังคับการที่จะพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ต้องพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ.2499เป็นเกณฑ์ โจทก์พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่96/1มาตั้งแต่ปี2527แสดงว่าโจทก์ได้ออกจากบ้านเลขที่96/2อันเป็นบ้านที่โจทก์มีชื่อเป็นผู้อาศัยอยู่ในทะเบียนหลังนั้นนับถึงวันที่จำเลยที่1ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่2เพื่อให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากบ้านของจำเลยที่1เป็นเวลาประมาณ7ปีถือว่าโจทก์ได้ย้ายที่อยู่จากบ้านซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนไปอยู่ที่อื่นแล้วจำเลยที่1ในฐานะเจ้าบ้านมีหน้าที่แจ้งการย้ายที่อยู่ของโจทก์ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในกำหนด15วันนับแต่วันย้ายออกเมื่อขณะที่จำเลยที่1ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่2ให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของจำเลยที่1จำเลยที่1กำลังมีข้อพิพาทอยู่กับโจทก์เกี่ยวด้วยเรื่องที่จำเลยที่1ฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากบ้านเลขที่96/1อันเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของจำเลยที่1อยู่การที่จำเลยที่1ไม่แจ้งย้ายชื่อของโจทก์จากทะเบียนบ้านเลขที่96/2ไปอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่96/1ย่อมไม่เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ การที่จำเลยที่2ในฐานะนายทะเบียนผู้รับแจ้งมีคำสั่งอนุญาตให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านเลขที่96/2ของจำเลยที่1ไปไว้ในทะเบียนบ้านกลางหรือทะเบียนคนบ้านกลางตามระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎรกรมการปกครองว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎรสำหรับสำนักทะเบียนในเขตปฏิบัติการตามโครงการจัดทำเลขประจำตัวประชาชนพ.ศ.2528ข้อ52ถือว่าจำเลยที่2ได้สั่งการไปตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ 96/2 ต่อจำเลยที่ 2เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจและจำเลยที่ 2 ได้อนุญาตให้นำชื่อโจทก์ไปไว้ในทะเบียนคนบ้านกลาง โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าขณะนั้นโจทก์ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งอยู่ติดกัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่อาจใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนชุดชนตลอดจนไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 164,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิในบ้านเลขที่ 96/2 ได้อนุญาตให้โจทก์มีชื่อในทะเบียนบ้านและเช่าพักอาศัยเรื่อยมาจนกระทั่งประมาณปี 2527 โจทก์ได้ขอย้ายไปเช่าพักอาศัยในบ้านเลขที่ 96/1 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ติดกันแต่ไม่ได้ย้ายชื่อทางทะเบียน ต่อมาประมาณปี 2531 โจทก์ประพฤติผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ให้โจทก์เช่าต่อไปจึงได้ฟ้องขับไล่ให้โจทก์ออกจากบ้านเลขที่ 96/1 และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจอนุญาตโดยนำเชื่อโจทก์ไปไว้ในทะเบียนคนบ้านกลาง โจทก์สามารถตรวจสอบและแก้ไขทะเบียนบ้านได้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับแจ้งย้ายเข้า ย้ายออก และแก้ไขรายการทะเบียนบ้านเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าบ้านได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานผู้รับคำร้องว่าโจทก์ได้ย้ายออกจากบ้านเลขที่ 96/2 ไปนานกว่า 1 ปีแล้ว และไม่ทราบไปอยู่ ณ ที่ใดประสงค์ให้ย้ายชื่อโจทก์ออกไป จำเลยที่ 2 ตรวจสอบแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบ จึงอนุญาตให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ 96/2 ดังกล่าว ไปอยู่ในทะเบียนคนบ้านกลาง หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง โจทก์สามารถคัดค้านและยื่นคำร้องขอให้แก้ไขเพิ่มเติมชื่อของโจทก์ลงในทะเบียนบ้านที่ถูกต้องในขณะนั้นได้ แต่โจทก์ก็เพิกเฉย จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า ขณะเกิดเหตุคือเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนผู้รับแจ้งตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ. 2499 มีคำสั่งย้ายชื่อโจทก์ซึ่งมีชื่อเป็นผู้อาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 6/2 ซอยสุคันธาราม แขวงสวนจิตรลดาเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร อันเป็นทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนบ้านหลังดังกล่าวไปอยู่ในทะเบียนคนบ้านกลางซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุญาตให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 ได้ ตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499ใช้บังคับอยู่ยังไม่ถึงวันที่พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับ เพราะมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 บัญญัติให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เมื่อความปรากฏว่าการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2534 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ดังที่โจทก์กล่าวในฎีกา ฉะนั้นการที่จะพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ก็ต้องพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และของจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499เป็นเกณฑ์ ดังนั้น เมื่อโจทก์พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 96/1ซอยสุคันธาราม แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร>มาตั้งแต่ปี 2527 ก็แสดงว่า โจทก์ได้ออกจากบ้านเลขที่ 96/2ซอยสุคันธาราม แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานครอันเป็นบ้านที่โจทก์มีชื่อเป็นผู้อาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านหลังนั้นนับถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากบ้านของจำเลยที่ 1 เป็นเวลาประมาณ 7 ปี โดยนัยแห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499 มาตรา 27 วรรคสี่ และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง (ก) ถือว่าโจทก์ได้ย้ายที่อยู่จากบ้านซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนไปอยู่ที่อื่นแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าบ้านมีหน้าที่แจ้งการย้ายที่อยู่ของโจทก์ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันย้ายออก และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 กำลังมีข้อพิพาทอยู่กับโจทก์เกี่ยวด้วยเรื่องที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากบ้านเลขที่ 96/1 ซอยสุคันธาราม แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร อันเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของจำเลยที่ 1 อยู่ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ไม่แจ้งย้ายชื่อของโจทก์จากทะเบียนบ้านเลขที่ 96/2 ไปอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 96/1 ย่อมไม่เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ และโดยยื่นระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎรแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2526 ข้อ 9 วรรคท้าย ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งเป็นระเบียบที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์ย้ายที่อยู่ระบุวางแนวทางปฏิบัติไว้ว่า ในกรณีที่คนได้แจ้งย้ายออกจากบ้านและไม่สามารถที่จะไปแจ้งย้ายเข้ายังบ้านหนึ่งบ้านใดรวมทั้งบ้านเดิมได้ ให้นายทะเบียนท้องถิ่นหรือนายทะเบียนอำเภอลงรายการบุคคลนั้นในทะเบียนบ้านกลาง โดยอนุโลมเช่นเดียวกับการย้ายโดยไม่ทราบที่อยู่ ทั้งนี้เพื่อมิให้รายการของคนตกหล่นจากทะเบียน การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนผู้รับแจ้งมีคำสั่งอนุญาตให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านเลขที่96/2 ซอยสุคันธาราม แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 1 ไปไว้ในทะเบียนบ้านกลางหรือทะเบียนคนบ้านกลางตามระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎรกรมการปกครอง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎรสำหรับสำนักทะเบียนในเขตปฏิบัติการตามโครงการจัดทำเลขประจำตัวประชาชนพ.ศ. 2528 ข้อ 52 ตามสำนักงานเอกสารหมาย จ.9 ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้สั่งการไปตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share