แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องยืนยันข้อเท็จจริงและคุณสมบัติของผู้คัดค้านตามคำร้องแล้วว่า ผู้คัดค้านพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2547 ผู้คัดค้านจึงมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้คัดค้านน่าจะขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4) คำร้องของผู้ร้องมิได้เพียงขอให้ศาลฎีกาช่วยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้คัดค้านเท่านั้น แต่ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการรับสมัครเลือกตั้งของผู้คัดค้านด้วย คำร้องของผู้ร้องจึงมีสภาพเป็นคำร้องตามกฎหมาย ชอบด้วย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 34/1 แล้ว
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน เมื่อข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านเพิ่งส่งหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยไปถึงพรรคไทยรักไทยในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ผู้คัดค้านสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2547 เมื่อนับแต่วันที่ผู้คัดค้านลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้คัดค้านจึงเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันถึงวันสมัครรับเลือกตั้งน้อยกว่า 90 วัน ผู้คัดค้านจึงขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4)
(คำสั่งศาลฎีกา)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาสืบพยานผู้คัดค้านและสืบพยานของศาลเองแล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องชอบด้วย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 34/1 หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องยืนยันข้อเท็จจริงและคุณสมบัติของผู้คัดค้านตามคำร้องแล้วว่า ผู้คัดค้านพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2547 ผู้คัดค้านจึงมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน ผู้คัดค้านน่าจะขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4) คำร้องของผู้ร้องมิได้เพียงขอให้ศาลฎีกาช่วยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้คัดค้านเท่านั้น แต่ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนการรับสมัครเลือกตั้งของผู้คัดค้านด้วย คำร้องของผู้ร้องจึงมีสภาพเป็นคำร้องตามกฎหมาย ชอบด้วย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 34/1 แล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า ผู้คัดค้านสมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2543 ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2547 ผู้คัดค้านสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย หลังจากนั้นวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้คัดค้านได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 20 กรุงเทพมหานคร เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 107 (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน จึงต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ผู้คัดค้านได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยตั้งแต่เมื่อใด ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้คัดค้านได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยในวันที่ 5 สิงหาคม 2547 ผู้คัดค้านมีตัวผู้คัดค้านและนายวัฒนาเป็นพยานเบิกความเพียงลอย ๆ ว่า ผู้คัดค้านมอบให้นายวัฒนานำหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยของผู้คัดค้านไปยื่น ณ ที่ทำการพรรคไทยรักไทยเมื่อประมาณวันที่ 5 สิงหาคม 2547 โดยมีเจ้าหน้าที่ของพรรคไทยรักไทยรับเอกสารดังกล่าวไว้ โดยผู้คัดค้านไม่มีเอกสารหลักฐานใดยืนยันว่า พรรคไทยรักไทยได้รับหนังสือลาออกของผู้คัดค้านไว้ในวันดังกล่าวจริง แต่กลับได้ความจากคำเบิกความของนางสาวมัณธนาพยานของศาลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนสมาชิกของพรรคไทยรักไทยว่า พยานเป็นผู้ลงชื่อรับเรื่องการยื่นใบลาออกของผู้คัดค้านไว้ด้วยตนเองเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ปรากฏตามสำเนาใบลาออกแนบท้ายคำร้องของผู้ร้อง นางสาวมัณธนาทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนสมาชิกพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่ 2542 มีหน้าที่โดยตรงในการรับใบสมัครของผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยและใบลาออกของสมาชิกพรรคไทยรักไทย พยานปากนี้ได้เบิกความถึงวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการรับใบลาออกของสมาชิกพรรคไทยรักไทยอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยละเอียด ปราศจากข้อพิรุธสงสัยว่าจะเสริมแต่งข้อเท็จจริงใด ๆ ขึ้น น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริงที่รู้เห็นมา ในขณะที่ตามทางพิจารณาได้ความจากคำเบิกความของนายวัฒนาว่า นายวัฒนาประกอบอาชีพทนายความมาเป็นเวลาถึง 10 ปี เศษ นายวัฒนาย่อมต้องตระหนักถึงความสำคัญของการลงรับเอกสารต่าง ๆ ไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานเป็นอย่างดี หากนายวัฒนานำใบลาออกของผู้คัดค้านไปยื่นต่อพรรคไทยรักไทยเมื่อประมาณวันที่ 5 สิงหาคม 2547 จริงแล้ว ก็น่าจะต้องขอหลักฐานใด ๆ ที่จะเป็นการยืนยันว่าพรรคไทยรักไทยได้รับหนังสือลาออกของผู้คัดค้านไว้ในวันดังกล่าวจริง ซึ่งในประเด็นนี้นางสาวมัณธนาได้เบิกความยืนยันว่า หากผู้นำใบลาออกมายื่นประสงค์จะได้ใบรับไว้เป็นหลักฐาน พยานจะลงชื่อรับเรื่องและลงวันที่รับไว้ในต้นฉบับเอกสารก่อน จากนั้นจะนำต้นฉบับไปถ่ายเอกสารแล้วมอบสำเนาเอกสารนั้นให้แก่ผู้มายื่น แต่ก็ไม่ปรากฏว่านายวัฒนาได้ขอใบรับจากพรรคไทยรักไทยไว้เป็นหลักฐานแต่อย่างใด อันเป็นการผิดวิสัยของผู้ที่ประกอบอาชีพทนายความมาเป็นเวลานาน ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านเพิ่งส่งหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยไปถึงพรรคไทยรักไทยในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ตามที่นางสาวมัณธนายืนยันดังกล่าว ผู้คัดค้านสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2547 เมื่อนับแต่วันที่ผู้คัดค้านลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 10 มกราคม 2548 ผู้คัดค้านจึงเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยเพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันถึงวันสมัครรับเลือกตั้งน้อยกว่า 90 วัน ผู้คัดค้านจึงขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 107 (4)
จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายศิริโชค ผู้คัดค้าน.