แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
น.มิได้เป็นผู้ซึ่งจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ และไม่ปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามวรรคสองของมาตรา 36 พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2508 การที่น.ได้เรียงหรือแต่งฟ้องฎีกาให้จำเลยซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา 37 ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาซึ่งเกิดจากการกระทำอันไม่ชอบศาลฎีกาไม่อาจรับพิจารณาให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ฯลฯ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา และมีผู้ต้องขังในเรือนจำเช่นเดียวกับจำเลยอีก2 คน ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและเขียนหรือพิมพ์ กล่าวคือ ข.ช.นิติลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและทาน ข.ช. ประสิทธิ ลงลายมือชื่อเป็นผู้เขียนและพิมพ์ แต่ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 มาตรา 36บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งมิได้จดทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นทนายความ ฯลฯ แต่งฟ้องฎีกา ฯลฯ ให้แก่บุคคลอื่น
บทบัญญัติในวรรคก่อนไม่ให้ใช้บังคับแก่เจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ราชการและบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่กระทำได้ โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา 36นี้มีโทษทางอาญา ตามมาตรา 37 ข.ช. นิติมิได้เป็นผู้ซึ่งจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ และไม่ปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามวรรคสองของมาตรา 36 ที่ได้เรียงหรือแต่งฟ้องฎีกาให้จำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาซึ่งเกิดจากการกระทำอันไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่อาจรับพิจารณาให้
พิพากษาให้ยกฎีกาจำเลย