แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจตนารมณ์ ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173 วรรคแรก นั้น เพื่อให้จำเลยมีทนายช่วยเหลือในการต่อสู้คดีที่เป็นความผิดอุกฉกรรจ์ซึ่งมีอัตราโทษประหารชีวิต ดังนั้นแม้ก่อนเริ่มพิจารณาศาลชั้นต้นจะมิได้สอบถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่แต่ในวันสอบถามคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งขอแรงทนายให้จำเลย กับได้มีคำสั่งตั้งทนายที่ขอแรงไว้ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ และทนายจำเลยก็ได้ทำหน้าที่ตลอดมาจนถึงที่สุดโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยเสียเปรียบในเชิงคดี ทั้งจำเลยก็มิได้เปลี่ยนแปลงคำให้การของจำเลยแต่ประการใด ถือได้ว่าจำเลยยังคงให้การรับสารภาพ จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสอบถามคำให้การจำเลยอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 90,91, 288, 289, 371 ริบด้ามมีดของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต และปรับ 50 บาทริบของกลาง
โจทก์จำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายให้” เจตนารมณ์ ของกฎหมายก็เพื่อให้จำเลยมีทนายช่วยเหลือในการต่อสู้คดีที่เป็นความผิดอุกฉกรรจ์เป็นสำคัญ คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษถึงประหารชีวิต แม้ไม่ปรากฏว่าขณะสอบถามคำให้การจำเลยศาลชั้นต้นไม่ได้ถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ก่อน แต่ในวันที่ 14กันยายน 2535 ซึ่งเป็นวันสอบถามคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งขอแรงทนายให้จำเลย และได้ลงนามในหนังสือขอแรงทนายให้จำเลยในวันเดียวกัน กับได้มีคำสั่งตั้งทนายที่ขอแรงไว้ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ และทนายจำเลยก็ได้ทำหน้าที่ทนายจำเลยตลอดมาจนถึงที่สุดโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยเสียเปรียบในเชิงคดี ทั้งจำเลยก็มิได้เปลี่ยนแปลงคำให้การของจำเลยแต่ประการใด ถือได้ว่าจำเลยยังคงให้การรับสารภาพ คดีจึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสอบถามคำให้การจำเลยอีก
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี