คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 461/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นแพทย์ และไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา ได้ฉีดและให้ผู้ตายกินยาปฏิชีวนะประเภทเพนิซิลลิน โดยผู้ตายมีอาการหมดสติแทบจะทันใด หลังจากจำเลยให้กินยาและฉีดยา และถึงแก่ความตายหลังจากนั้น ประมาณ 3 ชั่วโมง โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายรับการฉีดยาจากสถานพยาบาลอื่นมาก่อนมีอาการเช่นนั้น ถือว่าความตายเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยทั้งสองให้กินยาและฉีดยาเพนิซิลลินจำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองไม่ใช่แพทย์ ไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา ไม่มีความรู้ในวิชาแพทยศาสตร์ แต่ได้ช่วยกันตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคให้แก่นายบุญล้อม ตื่นเต้นดี ได้กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง โดยฉีดยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินเข้าสู่ร่างกายนายบุญล้อมตื่นเต้นดี และจ่ายยาให้รับประทานด้วย ซึ่งในภาวะวิสัยและพฤติการณ์เช่นนั้น จำเลยทั้งสองอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นแต่จำเลยทั้งสองหาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เป็นเหตุให้นายบุญล้อมตื่นเต้นดี ถึงแก่ความตาย และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยตรวจวินิจฉัยและบำบัดโรคด้วยการสอบถามอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติทางร่างกาย วัดความดันโลหิต ฉีดยาและจ่ายยาให้แก่นายบุญล้อม ตื่นเต้นดี และบุคคลทั่วไป ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาและจำเลยทั้งสองร่วมกันขายและมีไว้เพื่อขายยาซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันรวม 51 รายการอันเป็นยาควบคุมพิเศษและยาอันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยทั้งสองทราบแล้ว ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางการค้า โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้รับใบอนุญาต เหตุเกิดที่ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 291 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 พระราชบัญญัติยาพ.ศ. 2510 มาตรา 4, 12, 101, 126 พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2522 มาตรา 3 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตและประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาแต่ปฏิเสธฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43 พระราชบัญญัติยาพ.ศ. 2510 มาตรา 4, 12, 101, 126 พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2522 มาตรา 3 ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา จำคุกคนละ2 ปี ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยมิได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตจำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสถานหนัก
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ด้วย แต่การกระทำผิดของจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 43กับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยคนละ 6 ปีรวมเป็นโทษจำคุกคนละ 9 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงเหลือโทษจำคุกคนละ 6 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาเฉพาะข้อหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากนายวิรัตน์ ลาภมากพนักงานบริษัทนามประเสริฐก่อสร้าง จำกัด ตลาดทุ่งคอกอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ว่าปกตินายบุญล้อมตื่นเต้นดี ผู้ตายเป็นคนขับรถบดถนนของบริษัท มีร่างกายแข็งแรงดีไม่เคยเห็นกินยา วันเกิดเหตุเวลา 7 นาฬิกาเศษ พบผู้ตายเดินถือห่อข้าวมาด้วยอาการปกติบอกว่าไม่สบาย พยานจึงพาผู้ตายไปที่ร้านสมบัติคลีนิคซึ่งอยู่ห่างบริษัทประมาณ 200 เมตร พบจำเลยที่ 1สวมเสื้อแขนยาวสีขาวคล้ายแพทย์ เขียนชื่อผู้ตายไว้ในสมุดผู้ป่วยแล้วพาไปห้องตรวจโรค อีก 1 นาทีเศษ จำเลยที่ 1 ถือหลอดฉีดยามาไล่ลมออกจากหลอด ได้ความจากนายสนั่น ใจกล้า และนายจันทร์ดวงศรี พนักงานบริษัทเดียวกันต่อไปว่า เวลาประมาณ 8 นาฬิกานายเกลี้ยง หัวหน้าคนงานของบริษัทขอให้นายสนั่นอุ้มผู้ตายจากหน้าสมบัติคลีนิคขึ้นรถสิบล้อเพื่อให้นายจันทร์ขับรถพาไปโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 อำเภอสองพี่น้องขณะนั้นผู้ตายไม่มีแรง หมดสติ ลุกเดินไม่ได้ นาน ๆ จึงหายใจสักครั้ง เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์รับตัวผู้ตายเข้าห้องฉุกเฉินจนถึงเวลา 11 นาฬิกาเศษ แพทย์ได้บอกนายสนั่นว่าผู้ตายตายแล้วได้ความจากแพทย์หญิงพจนารถ รัตนพงศ์เลขาแพทย์โรงพยาบาลผู้รักษาตัวผู้ตายว่า ในวันเกิดเหตุเวลา 9.40 นาฬิกา ได้รับผู้ตายในสภาพไม่รู้สึกตัว ร่างกายซีด ริมฝีปากเขียวเป็นลักษณะการหายใจล้มเหลว ได้ทำการเจาะเลือดและให้น้ำเกลือที่มือผู้ตาย ผู้ตายมีอาการชักและเกร็งอีก 30 นาที ผู้ตายมีอาการหายใจขัด จึงได้ใส่ท่อช่วยหายใจและฉีดยากระตุ้นหัวใจเข้าทางเส้นเลือดที่เดียวกับที่ให้น้ำเกลือโดยไม่ได้ใช้ยาเพนิซิลลิน จนเวลา 11.10 นาฬิกาผู้ตายก็ถึงแก่ความตายโดยไม่สามารถสอบหาสาเหตุได้ แต่ถ้าหากทำการผ่าตัดเพื่อตรวจสอบก็อาจสามารถพบสาเหตุการตายได้พิเคราะห์คำเบิกความของพลตำรวจตรีประเวสน์ คุ้มภัย แพทย์ประจำสถาบันนิติเวชวิทยา กรมตำรวจผู้ตรวจพิสูจน์และรายงานสาเหตุการตายของผู้ตายตามรายงานการตรวจศพ เอกสารหมาย ป.จ.1 ท้ายฟ้องว่าพยานเป็นคนผ่าศพและตัดเนื้อตรงสะโพกซ้ายของผู้ตายตรงที่มีรอยฉีดยาส่งให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจพิเคราะห์ปรากฏผลว่าได้พบยาปฏิชีวนะเพนิซิลลินในกล้ามเนื้อดังกล่าว สาเหตุการตายที่พบคือการแพ้ยาเพนิซิลลินดังกล่าว เห็นว่า จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ตายก่อนเกิดเหตุและอาการทางร่างกายของผู้ตายก่อนและหลังจากจำเลยทั้งสองทำการรักษารวมทั้งรายงานผลการตรวจชันสูตรพลิกศพของแพทย์เอกสารหมาย จ.5เมื่อคำนึงถึงการที่ผู้ตายสามารถเดินจากที่ทำการบริษัทนามประเสริฐก่อสร้าง จำกัด ไปที่ร้านสมบัติคลีนิคของจำเลยทั้งสองไกลประมาณ 200 เมตร เมื่อเวลา 7 นาฬิกาเศษ แต่เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมทำการรักษาผู้ตายด้วยยาฉีดและยากิน เวลาประมาณ8 นาฬิกา ผู้ตายกลับมีอาการไม่มีแรง หมดสติ ลุกเดินไม่ได้นาน ๆ จึงหายใจสักครั้ง เวลา 9.40 นาฬิกา ผู้ตายมีอาการไม่รู้สึกตัว ร่างกายซีด ริมฝีปากเขียว มีอาการหายใจล้มเหลว แม้แพทย์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 พยายามช่วยชีวิตด้วยการให้ยากระตุ้นหัวใจ ใช้ท่อช่วยหายใจ แต่ผู้ตายก็ถึงแก่ความตายเมื่อเวลา 11.10 นาฬิกา แม้แพทย์หญิงพจนารถผู้ทำการรักษาให้ผู้ตายจะเบิกความว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยหลายสาเหตุแต่ก็เชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสองมีส่วนทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยทั้งสองเป็นเพียงร่วมกันให้ยาฉีดกานามัยซินซึ่งเป็นยาบำรุงร่างกายไม่ทำให้ผู้ตายมีอาการแพ้ถึงแก่ความตายผู้ตายอาจรับการฉีดยาเพนิซิลลินจากโรงพยาบาลอู่ทองหรือโรงพยาบาลจันทรุเบกษาก่อนวันเกิดเหตุก็ได้นั้น เมื่อพิเคราะห์หนังสือส่งรายงานประวัติผู้ป่วยของโรงพยาบาลจันทรุเบกษาจังหวัดนครปฐม ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2531 ประกอบก็ปรากฏรายงานแพทย์เพียงว่าเมื่อ พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2530 ผู้ตายมีอาการชักบางครั้งและกินยาแก้หอบวันละ 9 เม็ด และกินยากันชักของโรงพยาบาลอู่ทองมาโดยตลอดเท่านั้น เมื่อฟังได้ว่า ผู้ตายมีอาการหมดสติแทบจะทันใดหลังจากจำเลยให้กินยาและฉีดยาและถึงแก่ความตายหลังจากนั้นเป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายรับการฉีดยาจากสถานพยาบาลอื่นก่อนมีอาการเช่นนั้น จึงเชื่อได้ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยทั้งสองให้กินยาและฉีดยาเพนิซิลลิน ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นแพทย์และไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภานอกจากนั้นเชื่อได้อีกว่า ตามพฤติการณ์จำเลยทั้งสองทราบดีว่าผู้ตายมีอาการหมดสติแทบจะทันที หลังจากกินยาและฉีดยา แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้สอบถามหรือช่วยเหลือผู้ตายเพื่อบรรเทาผลร้ายแต่อย่างใด ความตายของผู้ตายจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยเพียงให้ยากานามัยซินคนละประเภทกับยาเพนิซิลลินเพื่อบำรุงร่างกายผู้ตาย ปรากฏตามบันทึกการตรวจค้นบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.4, จ.13และ จ.14 ตามลำดับนั้น เห็นว่า แม้บันทึกการตรวจค้นจะแสดงว่าตำรวจได้ตรวจค้นพบเครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ พร้อมขวดยากานามัยซิน1 ขวดก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่า ตำรวจไปตรวจค้นและบันทึกการตรวจค้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2531 หลังวันเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยทั้งสองย่อมมีเวลาเคลื่อนย้ายทำลายหลักฐานการฉีดยาเพนิซิลลินก่อนตำรวจทำการตรวจค้น ทั้งขวดยากานามัยซินที่ตรวจค้นก็อาจเป็นเพียงขวดยาที่จำเลยทั้งสองใช้ฉีดคนไข้รายอื่นก็เป็นได้ เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษและลดโทษให้จำเลยทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share