แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะมิใช่ผู้ประดิษฐ์หรือผลิตสินค้า แต่เป็นผู้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของเดิมจดทะเบียนไว้ในประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยกิจการบริการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย และโจทก์ได้จดทะเบียนในประเทศไทยแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะขายสินค้าตามเครื่องหมายการค้านั้น การที่จำเลยจำหน่ายสินค้าที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์ติดมาในประเทศไทย เป็นเหตุให้การขายของโจทก์ลดลง ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ อายุความตามสิทธิของโจทก์ที่ขอให้ห้ามจำเลยมิให้จำหน่ายรวมทั้งห้ามสั่งหรือนำเข้าซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ มิใช่เป็นการเรียกค่าเสียหายจึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเบลป๊อป และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้ากล้องยาสูบในจำพวก 50 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 โจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดถาวรอินเตอร์เนชั่นแนลโจทก์ที่ 2 และได้มอบหมายให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จำหน่ายกล้องยาสูบภายใต้เครื่องหมายการค้าเบลป๊อป แต่ผู้เดียวในประเทศไทยโจทก์ที่ 1 ได้ตกลงให้บริษัทกลอเรียโซไค จำกัด และบริษัท ไคนิ บุสซัน จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตกล้องยาสูบในเครื่องหมายการค้าเบลป๊อป โดยโจทก์ที่ 2 จะสั่งซื้อจากบริษัททั้งสองมาจำหน่าย โจทก์ทั้งสองได้ทำการโฆษณาสาธิตวิธีการใช้กล้องยาสูบเบลป๊อป ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ถึงกลางปีพ.ศ. 2526 สิ้นเงินค่าใช้จ่ายไป 1,022,000 บาท ต่อมาสิ้นค้าของโจทก์ที่ 2 จำหน่ายได้น้อยลง โจทก์ได้ทำการสืบสวนจึงทราบว่าจำเลยนำสินค้ากล้องยาสูบเบลป๊อป ของโจทก์ที่ 1อันมีลักษณะอย่างเดียวกับของโจทก์ที่ 1 ออกจำหน่ายในท้องตลาด อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และห้ามจำเลยจำหน่ายกล้องยาสูบที่มีเครื่องหมายการเบลป๊อป ทั้งห้ามสั่งหรือนำเข้าซึ่งกล้องยาสูบดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทยต่อไป ให้จำเลยรวบรวมเก็บสินค้าที่ละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสอง ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด และที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยส่งมอบต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อจัดการทำลายเสีย
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าเบลป๊อปเป็นของผู้อื่นซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ณ ประเทศญี่ปุ่น เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมิใช่ของโจทก์ที่ 1 จำเลยมิได้เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าประเภทกล้องยาสูบที่มีเครื่องหมายการค้าเบลป๊อป แต่ได้สั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮงเฮงเส็งซึ่งเป็นผู้ซื้อกล้องยาสูบดังกล่าวมาจากประเทศญี่ปุ่นโดยตรง จำเลยจำหน่ายสินค้าโดยไม่ทราบว่าโจทก์จะได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าชนิดนี้ โจทก์ทำการยึดสินค้าและแจ้งความตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2526 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 3กรกฎาคม 2527 คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษากลับว่า ห้ามจำเลยมิให้จำหน่ายกล้องยาสูบที่มีเครื่องหมายการค้าเบลป๊อป รวมทั้งห้ามสั่งหรือนำเข้าซึ่งกล้องยาสูบดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าเครื่องหมายการค้าตามฟ้องเป็นของผู้อื่นที่จดทะเบียนไว้ในประเทศญี่ปุ่น ตามเอกสารหมาย ล.1 และในชั้นที่โจทก์ที่ 1ยื่นคำขอจดทะเบียน จะมิได้มีหนังสือมอบฉันทะจากเจ้าของเครื่องหมายการค้ามาแสดงว่าโจทก์ที่ 1 มีอำนาจจดทะเบียนได้แนบมากับคำขอด้วยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา9 ก็ตาม แต่การที่ไม่ได้มีหนังสือมอบฉันทะของผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าแนบมากับคำขอจดทะเบียนในขณะนั้นก็หาได้ทำให้คำขอจดทะเบียนถึงกับเป็นโมฆะหรือเป็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่มีอำนาจเสมอไปไม่ คดีนี้ปรากฎว่าก่อนที่โจทก์ที่ 1 จะได้รับหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนตามเอกสารหมายจ.2 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2525 นั้น ทางบริษัทกลอเรีย โซไคจำกัดเจ้าของเครื่องหมายการค้าในประเทศญี่ปุ่น ได้มีหนังสือมอบหมายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเบลป๊อป ที่ใช้กับกล้องยาสูบในประเทศไทยได้ตามเอกสารหมาย จ.1 และยังได้มีหนังสือยืนยันรับรองให้สัตยาบันให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าเบลป๊อปกับกล้องยาสูบในประเทศไทย ตามเอกสารหมาย จ.15 อีกและทางกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า กรมทะเบียนการค้าได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2ได้พิจารณาเอกสารหมาย จ.1 และ จ.15 ดังกล่าวแล้ว ประกอบกับข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสองปรากฎว่าเมื่อเกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองแล้วโจทก์ทั้งสองได้สอบถามไปยังบริษัทกลอเรียโซไค จำกัด บริษัทนั้นจึงแจงมาให้โจทก์ทั้งสองทราบถึงตัวบุคคลผู้ไปติดต่อเอาสินค้ามาขายเป็นช่องทางให้โจทก์ทั้งสองสืบทราบถึงบุคคลผู้ทำละเมิดได้ แสดงว่าบริษัทนั้นได้ทราบถึงข้อพิพาทคดีนี้แล้วด้วย ถ้าโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็คงไม่ติดต่อสอบถามไปยังบริษัทกลอเรีย โซไค จำกัด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตามฟ้องเพราะผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าหาใช่จำกัดเฉพาะผู้ทำสินค้าขึ้นเท่านั้นไม่ แม้โจทก์จะมิใช่ผู้ประดิษฐ์หรือผลิตสินค้า แต่เป็นผู้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของเดิมจดทะเบียนไว้ในประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยกิจการบริการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย โจทก์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะขายสินค้าตามเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้นั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างอิงมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ฉะนั้นการที่จำเลยจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าในบังคับแห่งสิทธิของโจทก์ในประเทศไทยโดยมิได้รับความยินยอมเป็นเหตุให้การค้าขายของโจทก์ลดลงไปย่อมเป็นละเมิดสิทธิของโจทก์เพราะการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวย่อมเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ติดมากับสินค้านั้นด้วย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดตามฟ้องโจทก์นั้นขาดอายุความแล้ว แต่สิทธิของโจทก์ที่ขอให้ห้ามจำเลยมิให้จำหน่ายกล้องยาสูบที่มีเครื่องหมายการค้าเบลป๊อป รวมทั้งห้ามสั่งหรือนำเข้าซึ่งกล้องยาสูบดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทยยังไม่ขาดอายุความข้อนี้เห็นว่าเมื่อโจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศไทยแล้ว ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยเป็นเวลา10 ปี เว้นแต่จะต่ออายุอีกตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 35 อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 คงใช้บังคับเฉพาะสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเท่านั้น แต่สิทธิของโจทก์ที่ขอให้ห้ามจำเลยมิให้จำหน่าย รวมทั้งห้ามสั่งหรือนำเข้า ซึ่งกล้องยาสูบที่มีเครื่องหมายการค้าเบลป๊อป มิใช่เป็นการเรียกค่าเสียหาย จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 448 ดังนั้นจึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164มีกำหนด 10 ปี โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิของโจทก์กรณีนี้ยังไม่ขาดอายุความ พิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน