คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4602/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจกระทำได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล ถือว่าเป็นการกระทำอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ยังไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลงดังกล่าว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เป็นเงินค่าขาดราคาและภาษีมูลค่าเพิ่มค้างจ่าย แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือให้ชำระเงินดังกล่าวแล้ว ไม่ได้ปฏิเสธหรือแสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความ ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 97,829.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 71,138.42 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 97,829.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 71,138.42 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 มีนาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า แอคคอร์ท ไปจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) ราคาเงินสดเป็นเงิน 754,205.61 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ชำระเงินในวันทำสัญญา 188,551.61 บาท ส่วนที่เหลือเป็นเงินลงทุน 565,654 บาท คิดค่าป่วยการเป็นเงิน 169,706 บาท รวมค่าเช่าซื้อเป็นเงิน 735,360 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด เป็นเงินเดือนละ 15,320 บาท จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยตกลงจะร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) เพียง 18 งวด เป็นเงิน 275,765.40 บาท คงค้างชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นเงิน 459,594.60 บาท ต่อมาบริษัทดังกล่าวได้ติดตามยึดรถกลับคืนและนำออกประมูลขายเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2540 เป็นเงิน 393,818.18 บาท คงเหลือยอดหนี้ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อ 65,776.42 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มงวดค้างจ่าย 5,362 บาท เป็นเงิน 71,138.42 บาท ต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2545 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ค่าเสียหายจากการขายรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นค่าขาดราคา แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2550 โจทก์ประมูลซื้อมูลหนี้ของจำเลยทั้งสองตามสัญญาเช่าซื้อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) โจทก์จึงรับโอนไปซึ่งสิทธิเรียกร้องรวมถึงมูลหนี้ของจำเลยทั้งสองด้วย ซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและบอกกล่าวการชำระหนี้ให้จำเลยทั้งสองทราบแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์มีนายชานันท์ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์เบิกความประกอบเอกสารว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2545 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขาดราคาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 แจ้งไปยังจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ค่าเสียหายจากค่าขาดราคาจากการขายรถยนต์ที่เช่าซื้อ แต่สำหรับจำเลยที่ 1 ไม่มารับหนังสือทวงถามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ไปรษณีย์ภายในกำหนด เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2546 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้อีกครั้ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งหนังสือได้โดยวิธีปิดหมาย ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองว่า เคยได้รับหนังสือ นอกจากนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ส่งหนังสือทวงถามแทน การส่งหนังสือทวงถามมีนายวิสุทธิ น้องชายจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับแทน ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถาม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย และไม่ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนด การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจกระทำได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล ถือว่าเป็นการทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ยังไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลงดังกล่าว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าขาดราคาให้แก่โจทก์เพียงใด ซึ่งปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหานี้โดยไม่ต้องย้อนสำนวน เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ค่าขาดราคา ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลนั้นให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินตามจำนวนที่แจ้งไป และให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่ได้รับแจ้งความ มิฉะนั้นถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เป็นเงินค่าขาดราคา 65,776.42 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มค่างวดค้างจ่าย 5,362 บาท รวมเป็นเงิน 71,138.42 บาท แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือให้ชำระเงินดังกล่าวแล้ว ไม่ได้ปฏิเสธหรือแสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด และโจทก์เป็นผู้ซื้อสิทธิเรียกร้องและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไปตามจำนวนดังกล่าวเป็นเงิน 71,138.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนลงไป 5 ปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share