แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อข้อ6วรรคสองมีข้อความว่า”แม้ว่าสัญญาจะเลิกไปตามการบอกเลิกแล้วก็ตามการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้นไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องของเจ้าของ(โจทก์)ที่จะเรียกให้ผู้เช่า(จำเลยที่1)รับผิดบรรดาค่าเสียหายค่าใช้จ่ายอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในสัญญานี้โดยผู้เช่าตกลงยินยอมรับผิดชอบทุกประการ”ข้อความดังกล่าวกำหนดถึงกรณีเมื่อจำเลยที่1ผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วโจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องบรรดาค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อทุกประการดังนี้ค่าเสียหายดังกล่าวหมายความรวมถึงค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องโดยใช้วิธีคำนวณจากราคาค่าเช่าซื้อส่วนที่ยังขาดอยู่ตามฟ้องข้อ4.1ด้วยโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จึงหาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อส่วนที่ค้างชำระไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 7 งวด และผิดนัดตั้งแต่งวดวันที่1 มกราคม 2534 เป็นต้นมา โจทก์ทวงถามแล้วเพิกเฉย จึงบอกกล่าวเลิกสัญญาและมอบหมายให้บุคคลภายนอกติดตามยึดรถกลับคืนมาได้ต่อมาโจทก์นำรถยนต์ที่ยึดคืนมาออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวน100,000 บาท เมื่อรวมกับค่างวดที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระ โจทก์ยังมีความเสียหายอยู่เป็นเงิน 71,429 บาท และการที่จำเลยที่ 1ไม่ส่งมอบรถคืนโจทก์นับแต่วันผิดสัญญาจนถึงวันที่โจทก์ติดตามยึดรถคืนมาได้เป็นเวลา 11 เดือน ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์เพราะอาจนำรถออกให้เช่าได้เดือนละ 3,000 บาท เป็นเงินค่าเสียหายจำนวน33,000 บาท ในการติดตามทวงถามโจทก์ได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกไปเป็นเงิน 4,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 108,929 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ที่ 1 ขาดนัด ยื่นคำให้การ และ ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เมื่อมีการผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนเป็นเหตุให้มีการเลิกสัญญา ผู้ให้เช่าซื้อมีเพียงสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อและริบเงินค่าเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วเท่านั้น ไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลืออีกขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน17,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7พฤษภาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 37,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 วรรคสอง มีข้อความว่า”แม้ว่าสัญญาจะเลิกไปตามการบอกเลิกแล้วก็ตาม การใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้นไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องของเจ้าของ(โจทก์) ที่จะเรียกให้ผู้เช่า (จำเลยที่ 1) รับผิดบรรดาค่าเสียหายค่าใช้จ่ายอื่นใด ตามที่กำหนดไว้ในสัญญานี้โดยผู้เช่าตกลงยินยอมรับผิดชอบทุกประการ” เห็นว่า ข้อความดังกล่าวกำหนดถึงกรณีเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องบรรดาค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อทุกประการดังนี้บรรดาค่าเสียหายดังกล่าวย่อมหมายความรวมถึงค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องโดยใช้วิธีคำนวณจากราคาค่าเช่าซื้อส่วนที่ยังขาดอยู่ตามฟ้องข้อ 4.1 ด้วย ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จึงหาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อส่วนที่ค้างชำระดังฎีกาจำเลยที่ 2 ไม่
พิพากษายืน