คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมจากจำเลยจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์จำเลยตกลงหักกลบลบหนี้กันแล้ว และจำเลยยังเป็นเจ้าหนี้โจทก์ถ้าเป็นเงินจำนวนหนึ่ง จึงฟ้องแย้งเรียกเงินที่เกินจากโจทก์ได้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิม

ย่อยาว

คดีนี้มีปัญหามาสู่ศาลฎีกาในข้อว่า จำเลยจะฟ้องแย้งได้หรือไม่โดยโจทก์ฟ้องและยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องมีใจความสำคัญว่าเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2497 จำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินโจทก์ไป 1,225 บาท และได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญากู้ท้ายคำฟ้อง จำเลยไม่เคยนำต้นเงินและดอกเบี้ยมาชำระเลย โจทก์ได้ทวงถามแล้วจำเลยก็ไม่ใช้ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 1,312 บาท 53 สตางค์แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยในต้นเงิน 1,225 บาท ในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ

จำเลยให้การว่า หนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยหามีเพียงแต่ทำสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องเท่านั้น ยังมีหนี้รายอื่น ๆ อีก ซึ่งรวมอยู่และพัวพันกับหนี้ในสัญญานี้อีกหลายอย่าง ซึ่งจำเลยได้ตกลงกับโจทก์หักกลบลบหนี้กัน คือ โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยตามสัญญากู้รวมทั้งดอกเบี้ยด้วย 1,312 บาท 53 สตางค์ เป็นเจ้าหนี้เช่านาใน พ.ศ.2487 จำนวนเนื้อนาที่จำเลยเช่า 78 ไร่ ๆ ละ 6 บาท80 สตางค์เป็นเงิน 530 บาท 40 สตางค์ เป็นหนี้ค่าข้าวปลูกที่จำเลยยืมโจทก์ไปเป็นเงิน 2,144 บาท รวมทั้งสิ้น เป็นเงิน 3,986 บาท 93 สตางค์และจำเลยได้เป็นเจ้าหนี้โจทก์ โดยโจทก์ซื้อข้าวเปลือกจากจำเลยไป พ.ศ. 2497 เอาไปจำหน่ายเป็นข้าวเปลือก 1,525 ถังใหญ่ ราคาถังละ 6 บาท 80 สตางค์ รวมเป็นเงิน 10,370 บาท หนี้ทั้งสองฝ่ายถึงกำหนดชำระ โจทก์จำเลยได้ตกลงกันในฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน เมื่อเดือน 4 พ.ศ. 2497 ให้เอาหนี้ดังกล่าวหักกลบลบกันไป เมื่อหักกันแล้ว โจทก์จะต้องคืนเงินค่าซื้อข้าวเปลือกให้จำเลยล้ำไปเป็นเงิน 6,383 บาท 7 สตางค์จำเลยได้ทวงถามเรียกเงิน 6,383 บาท 7 สตางค์ และเรียกสัญญากู้คืนจากโจทก์ ๆ ผัดผ่อน และในที่สุดไม่ชำระเงินดังกล่าวให้จำเลยจำเลยจึงฟ้องแย้งขอให้ศาลบังคับให้โจทก์ส่งสัญญากู้เงินลงวันที่ 13 มิถุนายน 2497 ให้จำเลย ให้โจทก์ชำระเงิน 6,383 บาท 7 สตางค์ ให้จำเลย และให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมค่าทนายความแทนจำเลยด้วย

ศาลชั้นต้นสั่งคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยว่า “รับคำให้การส่วนที่ฟ้องแย้งนั้นไม่รับ เพราะตามที่กล่าวอ้างมานั้นไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือสนับสนุนฟ้อง ให้คืนค่าธรรมเนียมฟ้องแย้งตามระเบียบ”

จำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว และได้ยื่นอุทธรณ์มีใจความว่า การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ (ข้าวเปลือก) เพียงแต่ผู้ขาย คือ จำเลยส่งมอบทรัพย์สิน (ข้าวเปลือก) อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ให้แก่โจทก์ผู้ซื้อไปแล้ว การซื้อขายก็สมบูรณ์ตามกฎหมาย และเหตุที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์นี้ก็ฟ้องแย้งเกี่ยวกับฟ้องเดิม ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การฟ้องแย้งโจทก์

ศาลอุทธรณ์ยกปัญหาขึ้นวินิจฉัย 4 ข้อ คือ (1) จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้หรือไม่ (2) ฟ้องแย้งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (3) หนี้ที่จำเลยฟ้องแย้งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ (4) โจทก์จำเลยจะตกลงกันขอหักกลบลบหนี้ได้หรือไม่ แล้วพิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องแย้งของจำเลยไว้ดำเนินการต่อไป แล้วพิจารณาพิพากษาตามรูปคดี ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียม ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 30 บาท แทนจำเลย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ในเรื่องฟ้องแย้งคดีแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรค 3 บัญญัติว่า”จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก” เรื่องที่จำเลยฟ้องแย้งขอหักกลบลบหนี้มานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิม และในชั้นนี้ก็ยังไม่มีเหตุอื่นที่จะไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย จึงชอบที่จะรับไว้พิจารณาตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้น ส่วนปัญหาว่าจะหักกลบลบหนี้ได้ตามฟ้องแย้งหรือไม่เพียงไรนั้น เป็นเรื่องที่จะวินิจฉัยพิพากษาคดี จะสั่งไม่รับคำฟ้องแย้งดังศาลชั้นต้นสั่งมานั้น หาชอบไม่

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์เสียค่าทนายความ 30 บาท ชั้นฎีกาแทนจำเลย

Share