แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่นายจ้างสั่งโอนลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทอื่นในต่างประเทศซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากนายจ้างเดิมโดยให้ลูกจ้างไปทำสัญญากับบริษัทดังกล่าวใหม่ และให้ตำแหน่งของลูกจ้างในบริษัทนายจ้างเดิมสิ้นสุดลงและจ้างบุคคลอื่นทำงานในตำแหน่งแทนแล้ว กรณีเช่นนี้เป็นการโอนสิทธิของนายจ้างไปยังบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยจึงจะกระทำได้ เมื่อลูกจ้างไม่ยินยอมด้วยโดยไม่ยอมทำสัญญาจ้างฉบับใหม่กับบริษัทอื่นที่จะโอนไปนั้น นายจ้างก็ให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งและจ้างบุคคลอื่นดำรงแทน กรณีจึงเป็นเรื่องนายจ้างสั่งเลิกจ้างและเมื่อการสั่งโอนดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าลูกจ้างกระทำผิดใดการเลิกจ้างกรณีเช่นนี้จึงเป็นการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ครั้งสุดท้ายทำงานตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของเฮอริเทจคลับซึ่งเป็นของจำเลย วันที่ 14 พฤศจิกายน 2534 จำเลยสั่งให้โจทก์หยุดงานทันที ทั้งสั่งย้ายโจทก์ไปทำงานกับบุคคลอื่นที่เมืองฮ่องกงในวันที่ 9 ธันวาคม 2534 โดยโจทก์ไม่ยินยอมพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยชำระเงินโบนัสสำหรับปี 2533 ที่ค้างชำระจำนวน 81,120 บาท ค่าชดเชยจำนวน 834,000 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 139,000 บาทค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินจำนวน 88,400 บาท ค่าขนย้ายสัมภาระของใช้ส่วนตัวจำนวน 260,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 115,830 บาท ค่าพาหนะกรณีที่โจทก์ไม่ได้ใช้รถยนต์ส่วนตัวจำนวน 13,500 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 5,004,000 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงกันว่าบริษัทซีซีเอมีสิทธิย้ายโจทก์ไปทำงานให้กับบริษัทอื่นในเครือของบริษัทซีซีเอได้โจทก์ได้ถ่ายสำเนาและนำเอกสารที่เป็นความลับทางธุรกิจของจำเลยออกไปจากที่ทำการของจำเลย จำเลยจึงเรียกโจทก์มาสอบถาม โจทก์ไม่พอใจและหาเหตุฟ้องเป็นคดีนี้โจทก์เองไม่ประสงค์จะทำงานอีกต่อไป เนื่องจากมีผู้เสนองานใหม่ให้ เมื่อโจทก์ได้รับคำสั่งให้ย้ายไปทำงานที่เมืองฮ่องกงตามสัญญา จึงถือโอกาสเบี่ยงเบนคำสั่งของจำเลยว่าจำเลยเลิกจ้าง โจทก์เบิกเงินทดรองจากจำเลยเพื่อเป็นค่ามัดจำค่าเช่าบ้านล่วงหน้าจำนวน 76,000 บาทเมื่อโจทก์ต้องโอนไปทำงานที่เมืองฮ่องกงจึงไม่ได้ใช้เงินดังกล่าวอีก ต้องคืนแก่จำเลย ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 76,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ยืมเงินทดรองจ่ายมัดจำค่าเช่าบ้าน จำนวน 76,000 บาท จากจำเลยจริงและขณะนี้ยังไม่ได้ชดใช้ให้
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินโบนัส จำนวน 81,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จและค่าโดยสารรถยนต์แท็กซี่ จำนวน 8,100 บาท แก่โจทก์และให้โจทก์ชำระเงินมัดจำค่าเช่าบ้านจำนวน 76,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง(วันที่ 18 ธันวาคม 2534) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่โจทก์จำเลยรับกันว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2534 จำเลยมีเอกสารหมายจ.3 ถึงโจทก์ และโจทก์ได้รับแล้ว คำแปลของเอกสารดังกล่าวปรากฏตามเอกสารหมาย จ.19 มีความว่า บริษัทซีซีเอขอร้องให้ทางจำเลยโอนโจทก์ไปทำงานในตำแหน่งที่ว่างคือตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปที่สำนักงานซีซีเอ ที่เมืองฮ่องกงโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2534 และทางจำเลยได้ยินยอมในการโอนดังกล่าว และเหตุนี้หน้าที่รับผิดชอบในฐานะผู้จัดการทั่วไปของเฮอริเทจคลับของโจทก์ได้สิ้นสุดลงและให้เตรียมตัวไปรับตำแหน่งใหม่ที่เมืองฮ่องกงในวันที่ 9 ธันวาคม 2534 เงินเดือนสำหรับเดือนพฤศจิกายนและตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2534 จะโอนเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาเพลินจิตให้ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 และตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2534จำเลยก็ได้จ้างนายพอล แมกอินไตร์ ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของเฮอริเทจคลับของจำเลย เช่นนี้จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยได้สั่งโอนโจทก์ไปทำงานกับบริษัทซีซีเอที่เมืองฮ่องกง นับว่าเป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้าง>จากจำเลยไปเป็นบริษัทซีซีเอซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยโดยให้โจทก์ไปทำสัญญากับบริษัทซีซีเอใหม่และให้ตำแหน่งของโจทก์ในบริษัทจำเลยสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2534เป็นต้นไปและจ้างบุคคลอื่นทำงานในตำแหน่งแทนแล้วกรณีเช่นนี้เป็นการโอนสิทธิของนายจ้างไปยังบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 จะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างด้วยจึงจะกระทำได้แต่ปรากฏว่า โจทก์ไม่ยินยอมด้วยโดยไม่ยอมทำสัญญาจ้างฉบับใหม่กับบริษัทซีซีเอ แต่จำเลยก็ยังให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งในบริษัทจำเลย และจ้างบุคคลอื่นดำรงตำแหน่งแทนโจทก์แล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยสั่งเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2534 ซึ่งจำเลยให้โจทก์พ้นตำแหน่ง
ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่เห็นว่า ตามคำให้การจำเลยก็ไม่ได้ระบุว่าโอนย้ายโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดใด ๆ และปรากฏตามหนังสือจำเลยที่มีถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 (ซึ่งมีคำแปลตามเอกสารหมาย จ.19) ก็ระบุไว้ชัดว่าจำเลยยินยอมให้โอนโจทก์ไปทำงานในบริษัทซีซีเอที่เมืองฮ่องกง และให้หน้าที่รับผิดชอบของโจทก์ในฐานะผู้จัดการทั่วไปในบริษัทจำเลยสิ้นสุดลงและให้โจทก์ไปรับตำแหน่งใหม่ที่เมืองฮ่องกงในวันที่ 9 ธันวาคม 2534 เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่า จำเลยสั่งโอนโจทก์ไปทำงานที่เมืองฮ่องกงโดยไม่ได้ระบุว่ากระทำผิดใด ๆ เมื่อฟังได้ว่าการสั่งโอนโจทก์ไปทำงานที่เมืองฮ่องกงเป็นการเลิกจ้างดังวินิจฉัยมาแล้วดังนั้นการเลิกจ้างโจทก์ครั้งนี้จึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมกรณีจึงต้องพิจารณาถึงความรับผิดของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับข้อหาในเรื่องการเลิกจ้างและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเลิกจ้างตามฟ้องโจทก์ต่อไป ซึ่งศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยไว้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาวินิจฉัยในข้อหาดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่เกี่ยวกับข้อหาในเรื่องการเลิกจ้างและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเลิกจ้างตามฟ้องโจทก์ ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในเรื่องค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหาย และค่าโดยสารเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระของโจทก์และครอบครัว และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง