คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4590/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา17วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2427บัญญัติว่า”คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (25)กำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัลสำหรับการนำจับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด”และวรรคสองบัญญัติว่า”การกำหนดตาม(25)ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี”เมื่อปรากฎตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามประกาศระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527ฉบับที่1พ.ศ.2528ว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ออกระเบียบนั้นโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้วระเบียบนี้จึงเป็นระเบียบที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายและได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ทั้งไม่เป็นการออกทะเบียนที่ซ้ำซ้อนหรือมีบทลงโทษที่หนักกว่าโทษสำหรับความผิดฐานขนย้ายน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ออกนอกบริเวณโรงงานตามบทบัญญัติมาตรา44(7)และ71แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527เพราะเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ตามระเบียบดังกล่าวสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนมิใช่โทษอาญาดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา44(7)และ71ดังกล่าวหากแต่เป็นการกำหนดความรับผิดในทางแพ่งสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนระเบียบนั้นระเบียบดังกล่าวจึงเป็นระเบียบที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา4แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527คำว่า”คณะกรรมการ”หมายความว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมาตรา20วรรคหนึ่งบัญญัติว่า”ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า”คณะกรรมการบริหาร”ได้และตามมาตรา41วรรคหนึ่งบัญญัติว่า”ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า”คณะกรรมการน้ำตาลทราย”ดังนี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงมีอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวในการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการน้ำตาลทรายหาใช่อำนาจของรัฐมนตรีไม่ คณะที่ปรึกษากฎหมายไม่ใช่คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายแต่งตั้งขึ้นเพื่อมอบหมายให้ปฎิบัติการแทนคณะกรรมการน้ำตาลทรายดังที่บัญญัติไว้มาตรา42วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527คณะที่ปรึกษากฎหมายจึงไม่จำต้องมีคุณสมบัติจำนวนและสัดส่วนตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวแต่การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายก็เพื่อนำความเห็นทางกฎหมายของคณะที่ปรึกษามาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการน้ำตาลทรายเท่านั้นคณะกรรมการน้ำตาลทรายมีอำนาจอิสระที่จะรับฟังหรือไม่รับฟังความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายก็ได้ทั้งการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายก็ไม่มีกฎหมายห้ามไว้การแต่งตั้งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ตามมาตรา9แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกอบด้วยกรรมการทั้งหมด21คนปรากฎตามรายงานการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายครั้งที่1/2535ที่คณะกรรมการให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีกรรมการเข้าประชุม13คนซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดการประชุมดังกล่าวจึงมีกรรมการมาประชุมครบองค์ประชุมชอบด้วยมาตรา15วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมปลัดกระทรวงพาณิชย์และอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นข้าราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายตามบทบัญญัติมาตรา9ดังกล่าวซึ่งการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการดังกล่าวไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องเข้าประชุมด้วยตนเองและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้มอบหมายให้ข้าราชการในสังกัดปฎิบัติหน้าที่แทนเมื่อกรรมการนั้นไม่อาจมาปฎิบัติหน้าที่ได้ก็ย่อมจะมอบหมายให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงหรือกรณีที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ไปปฎิบัติราชการแทนในฐานผู้แทนได้การประชุมคณะกรรมการดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยที่4กรรมการดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิกซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองมีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นกรรมการและส.มิใช่ชาวไร่อ้อยไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการนั้นปรากฎว่าข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้องแม้โจทก์จะนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ก็ถือมิได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตามลำดับ และเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527จำเลยที่ 4 เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) และจำเลยที่ 5 เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหาร(กบ.) เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 จำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปชำระหนี้เบี้ยปรับเป็นเงิน 6,133,000 บาท ในความผิดฐานมีการลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบในฤดูการผลิตปี 2526/2527 และปี 2528/2529 ออกจากโรงงานของโจทก์ ทำให้น้ำตาลทรายขาดหายไปจากบัญชีจำนวน 3,066.5กระสอบ ในอัตรากระสอบละ 2,000 บาท โดยอ้างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามประกาศ ระเบียบ หรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ข้อ 5 (7)และข้อ 7 (3) ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเพราะกรรมสิทธิ์ในน้ำตาลทรายเป็นของโจทก์เนื่องจากการซื้อขายอ้อยระหว่างโรงงานและชาวไร่อ้อยเป็นการซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่งโดยเจาะจงแน่นอน กรรมสิทธิ์ในอ้อยที่ซื้อขายกันย่อมโอนมาเป็นของโจทก์ในทันทีที่ตกลงซื้อขายกัน ดังนั้น หากมีปริมาณน้ำตาลทรายขาดหายไปจากบัญชีก็เป็นความรับผิดในทางธุรกิจของโจทก์เอง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ประการต่อมาตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นแม่บทมีบทบัญญัติห้ามโรงงานน้ำตาลทรายขนย้ายน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ออกจากโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต หากมีการฝ่าฝืน จะเป็นความผิดตามมาตรา 44 (7), 71 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับสองเท่าของมูลค่าน้ำตาลทรายที่ขนย้ายออกจากโรงงาน แต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท แต่จำเลยกำหนดความผิดของโจทก์ตามระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามประกาศ ระเบียบ หรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528ข้อ 5 (7) และข้อ 7 (3) ที่กำหนดเบี้ยปรับในอัตรากระสอบละ2,000 บาท แต่ไม่น้อยกว่าครั้งละ 200,000 บาท จึงเป็นการตั้งข้อหาตามระเบียบที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะซ้ำซ้อนและมีอัตราโทษเกินกว่าที่กฎหมายแม่บทกำหนด ประกาศต่อมาคณะกรรมการยังพิจารณาลงโทษตามความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายที่คณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) แต่งตั้งขึ้นมาโดยมีจำนวนและสัดส่วนของกรรมการไม่เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 มาตรา 42 วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้ และคณะที่ปรึกษากฎหมายนี้มิใช่เจ้าพนักงาน ทำให้ไม่มีความผิดตามมาตรา 7 หากมีการปฎิบัติงานผิดพลาด ดังนั้น ความเห็นหรือบันทึกของคณะที่ปรึกษากฎหมายจึงเป็นเอกสารที่ไม่ชอบ ไม่อาจนำมาใช้พิจารณาว่าโจทก์กระทำผิดหรือไม่ นอกจากนี้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 80 วรรคสอง บัญญัติให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีในการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ดังนั้น การที่รัฐมนตรีมอบอำนาจให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดอื่น ๆจึงเป็นการไม่ชอบ และทำให้คำสั่งของคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นผู้รักษาการระเบียบที่กำหนดเบี้ยปรับสำหรับโรงงานเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์มิได้ลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายออกจากโรงงานแต่อย่างใด ซึ่งหากเป็นการขนย้ายโดยไม่มีใบขนย้าย จะถูกเจ้าพนักงานตำรวจตามด่านตรวจจับกุมทันทีและจะต้องถูกดำเนินคดีตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527แต่ไม่เคยมีการจับกุมและมีหลักฐานว่าโจทก์ขนย้ายน้ำตาลทรายโดยไม่ได้รับอนุญาตโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) แต่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ซึ่งเมื่อโจทก์ตรวจดูรายงานการประชุมของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่ยกให้อุทธรณ์ของโจทก์แล้ว ปรากฎว่าเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทนถึง 3 ราย คือนายจำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์ แทนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมนายเฉลิมศักดิ์ นากสวาสดิ์ แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์และนายประเทือง ศรีรอดบาง แทนอธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งกระทำมิได้ เนื่องจากการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ได้คำนึงถึงคุณสมบัติเฉพาะตัวเป็นสำคัญ แม้จะเป็นการแต่งตั้งโดยตำแหน่งก็ตาม เป็นเหตุให้จำนวนกรรมการที่มีคุณสมบัติถูกต้องเข้าประชุมเพียง 10 คน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการ ขอให้พิพากษาว่ากรรมสิทธิ์ในน้ำตาลทรายเป็นของโจทก์ เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วย เบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามประกาศระเบียบ หรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ลงวันที่14 พฤษภาคม 2528 เพิกถอนคำสั่งหรือมติของจำเลยที่ 5 รวมทั้งมติและบันทึกการประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 22/2531ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 เพิกถอนหนังสือสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่10020/2531 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2531 เพิกถอนบันทึกความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการน้ำตาลทรายที่นำเสนอต่อคณะกรรมการน้ำตาลทราย คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์รวมทั้งหนังสือที่ประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแจ้งมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และเพิกถอนการประชุมหรือบันทึกการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายครั้งที่ 1/2532 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2532
จำเลยทั้งห้าให้การและแก้ไขคำให้การว่า ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วย เบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามประกาศ ระเบียบ หรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528เป็นระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 มาตรา 17 (25), 18 และโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 17 (3) (ที่ถูกเป็นมาตรา 17 วรรคสอง)จึงเป็นระเบียบที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน2530 เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เข้าไปตรวจโรงงานของโจทก์ ปรากฎว่ามีน้ำตาลทรายขาวของโจทก์ขาดหายไปจากบัญชีในฤดูการผลิตปี2526/2527 จำนวน 494 กระสอบ แต่ได้ยกประโยชน์ให้โจทก์จำนวน 200 กระสอบ จึงมียอดที่ถือว่าขาดหายไปจากบัญชีจำนวน294 กระสอบ และยังมีน้ำตาลทรายขาวจำนวน 1,841.5 กระสอบกับน้ำตาลทรายดิบจำนวน 931 กระสอบ ขาดหายไปจากบัญชีในฤดูกาลผลิตปี 2528/2529 รวมขาดหายไปทั้งสิ้น 3,066.5 กระสอบคณะกรรมการที่มีอำนาจของจำเลยทั้งห้าจึงได้มีมติให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับตามระเบียบดังกล่าวเป็นเงินกระสอบละ 2,000 บาทรวมเป็นเงินค่าเบี้ยปรับทั้งสิ้น 6,133,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องการบังคับในการส่วนแพ่ง หาได้ซ้ำซ้อนหรือขัดต่อพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 44, 71 ที่เป็นโทษทางอาญาดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ คณะที่ปรึกษากฎหมายมิได้เป็นคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายแต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 42วรรคสอง จึงไม่จำต้องมีจำนวนและคุณสมบัติเหมือนอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่ตั้งตามมาตรา 42 วรรคท้าย สำหรับการประชุมของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 1/2532 เมื่อวันที่9 มกราคม 2532 ที่มีมติให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ก็เป็นการประชุมที่ชอบเพราะกรรมการในส่วนข้าราชการมีอำนาจมอบหมายให้ข้าราชการในบังคับบัญชาเข้าประชุมแทนได้ ตามประกาศของคณะปฎิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนเช่นกัน ในเรื่องที่ว่าโรงงานโจทก์ไม่เคยถูกจับกุมฐานลักลอบขนย้ายน้ำตาลทราย ก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการบริหารวินิจฉัยเพราะการขนย้ายโดยไม่มีใบขนย้ายเป็นการขนย้ายเปิดเผยโดยที่ไม่มีใบอนุญาตส่วนการลักลอบเป็นการขนย้ายโดยปกปิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา 17 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “คณะกรรมการมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(25) กำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัลสำหรับการนำจับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด” และวรรคสองบัญญัติว่า “การกำหนดตาม (25)ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี” ซึ่งปรากฎตามระเบียบคณะกรรมการดังกล่าวเอกสารหมาย จ.8 ว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ออกระเบียบนั้นโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว ระเบียบนี้จึงเป็นระเบียบที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมายและได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติเอาไว้ ทั้งไม่เป็นการออกระเบียบที่ซ้ำซ้อนหรือมีบทลงโทษที่หนักกว่าโทษสำหรับความผิดฐานขนย้ายน้ำตาลทรายที่ผลิตได้ออกนอกบริเวณโรงงานตามบทบัญญัติ มาตรา44 (7) และ 71 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527เพราะเบี้ยปรับที่กำหนดไว้ตามระเบียบดังกล่าวสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนมิใช่โทษทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 44 (7) และ 71ดังกล่าว หากแต่เป็นการกำหนดความรับผิดในทางแพ่งสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนระเบียบนั้น ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามประกาศระเบียบ หรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 จึงเป็นระเบียบที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มีเหตุจะเพิกถอนระเบียบมติหรือคำสั่ง และบันทึกความเห็นตามคำฟ้องโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้โจทก์ฎีกาอ้างเหตุผลที่สมควรเพิกถอนระเบียบ มติหรือคำสั่งและบันทึกความเห็นตามฟ้องโจทก์หลายประการ ประการแรกมีว่าในขณะที่ยังไม่มีสถาบันชาวไร่อ้อย มาตรา 80 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 บัญญัติให้รัฐมนตรีที่รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการน้ำตาลทราย ดังนั้น การที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแต่งตั้งกรรมการบริหาร และคณะกรรมการน้ำตาลทรายจึงเป็นการแต่งตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มติหรือคำสั่งของคณะกรรมการทั้งสองชุดที่ให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 คำว่า “คณะกรรมการ” หมายความว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการบริหาร”ได้ และตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการแต่งตั้งกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการน้ำตาลทราย”ดังนี้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงมีอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวในการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการน้ำตาลทรายหาใช่อำนาจของรัฐมนตรีดังที่โจทก์ฎีกาไม่ การแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนเหตุผลต่อไปที่โจทก์อ้างว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายไม่ชอบเพราะการแต่งตั้งดังกล่าวเป็นการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานซึ่งต้องมีคุณสมบัติ จำนวน และสัดส่วนตามมาตรา 42วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527นั้น เห็นว่า คณะที่ปรึกษากฎหมายไม่ใช่คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายแต่งตั้งขึ้นเพื่อมอบหมายให้ปฎิบัติการแทนคณะกรรมการน้ำตาลทรายดังที่บัญญัติไว้มาตรา 42 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 คณะที่ปรึกษากฎหมายจึงไม่จำต้องมีคุณสมบัติ จำนวนและสัดส่วนตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว แต่การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายก็เพื่อนำความเห็นทางกฎหมายของคณะที่ปรึกษามาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการน้ำตาลทรายเท่านั้นคณะกรรมการน้ำตาลทรายมีอำนาจอิสระที่จะรับฟังหรือไม่รับฟังความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายก็ได้ ทั้งการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายก็ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ การแต่งตั้งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนเหตุผลต่อไปที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าการประชุมของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่พิจารณายกอุทธรณ์โจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะกรรมการไม่ครบองค์ประชุม กรรมการบางนายมอบให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนซึ่งกระทำมิได้เนื่องจากการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ได้คำนึงถึงคุณสมบัติเฉพาะตัวเป็นสำคัญนั้นเห็นว่า ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกอบด้วยกรรมการทั้งหมด 21 คน ปรากฎตามรายงานการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายครั้งที่ 1/2532 ที่คณะกรรมการให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีกรรมการเข้าประชุม 13 คน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด การประชุมดังกล่าวจึงมีกรรมการมาประชุมครบองค์ประชุมชอบด้วยมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วส่วนผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าประชุมแทน 3 นาย คือนายจำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปฎิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมนายเฉลิมศักดิ์ นากสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปฎิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายประเทือง ศรีรอดบางรองอธิบดีกรมการค้าภายในแทนอธิบดีกรมการค้าภายในซึ่งเป็นผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าประชุมแทนกรรมการซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งไว้ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 นั้น เห็นว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นข้าราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายตามบทบัญญัติมาตรา 9 ดังกล่าว ซึ่งการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการดังกล่าวไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องเข้าประชุมด้วยตนเอง และไม่มีกฎหมายห้ามมิให้มอบหมายให้ข้าราชการในสังกัดปฎิบัติหน้าที่แทนเมื่อกรรมการนั้นไม่อาจมาปฎิบัติหน้าที่ได้ ก็ย่อมจะมอบหมายให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงหรือกรมที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ไปปฎิบัติราชการแทนในฐานะผู้แทนได้ การประชุมคณะกรรมการดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนเหตุผลที่โจทก์อ้างว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยที่ 4 กรรมการดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองมีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นกรรมการ และนายสุทธิพร เกริกกฤติยามิใช่ชาวไร่อ้อย ไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการนั้น เห็นว่าข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้อง แม้โจทก์จะนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ ก็ถือมิได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนเหตุผลสุดท้ายที่โจทก์ยกขึ้นฎีกาว่า โจทก์ไม่เคยลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายที่ผลิตออกนอกบริเวณโรงงานโดยฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วย เบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทราย ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามประกาศ ระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1พ.ศ. 2528 แต่อย่างใดนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอให้ฟังว่าน้ำตาลทรายของโจทก์สูญหายเพราะถูกคนร้ายลักเอาไปกรณีจึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าการขาดหายของน้ำตาลทรายโจทก์เกิดจากการลักลอบขนย้ายไปโดยฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวจริง
พิพากษายืน

Share