คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077-1079/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยผู้เช่าได้กั้นห้องด้วยไม้อัดไม่แน่นหนา รื้อออกได้ง่ายและไม่ทำให้เกิดความเสียหายหรือเปลี่ยนแปลงรูปทรงอาคารเดิมของโจทก์ จึงไม่ถือว่าเป็นการดัดแปลงหรือต่อเติมแก่ทรัพย์ที่เช่า
ส่วนการดัดแปลงบันไดนั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้อนุญาตด้วยวาจาให้จำเลยดัดแปลงได้ การที่ระบุไว้ในสัญญาว่าจำเลยจะไม่ดัดแปลงหรือต่อเติมอย่างใดแก่ทรัพย์ที่เช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ก็เพื่อความสะดวกแก่การพิสูจน์โดยมีหลักฐานแน่นอนและชัดแจ้งเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเท่านั้นไม่ใช่ว่าโจทก์จะไม่อาจให้คำอนุญาตด้วยวาจาได้เลยประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งเมื่อโจทก์ได้อนุญาตด้วยวาจาแล้วเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้สละข้อห้ามในสัญญานั้นแล้ว โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้ง 3 สำนวนฟ้องขับไล่ โดยอ้างว่าจำเลยแต่ละสำนวนได้ดัดแปลงต่อเติมอาคารที่เช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่า โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา จำเลยนิ่งเฉยเสีย ขอให้บังคับขับไล่

จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า โจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยดัดแปลง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยดัดแปลงต่อเติมห้องและบันไดโดยปริยายแล้ว จำเลยไม่ผิดสัญญาเช่า พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกั้นห้องของจำเลยทำด้วยไม้อัดไม่แน่นหนารื้อออกได้ง่าย ทั้งไม่ปรากฏว่าการกั้นห้องนั้นทำความเสียหายหรือเปลี่ยนแปลงรูปทรงอาคารเดิมของโจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยในกรณีเช่นนี้ จะถือว่าเป็นการดัดแปลงหรือต่อเติมอย่างใด ๆ แก่ทรัพย์ที่เช่าตามสัญญาข้อ 10 หาได้ไม่ เพราะความุ่งหมายแห่งสัญญาข้อนี้ เนื่องมาจากผู้ให้เช่าประสงค์จะสงวนรูปทรงของอาคารเดิมไว้ ทั้งต้องการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการดัดแปลงและต่อเติมนั่นเอง การกั้นห้องของจำเลยจึงไม่ผิดสัญญาข้อ 10 อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ขอเลิกสัญญากับจำเลยตามสัญญาข้อ 13 ได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่ามีการอนุญาตโดยตรงหรือโดยปริยาย และโดยมีลายลักษณ์อักษรของผู้ให้เช่าหรือไม่

ส่วนการดัดแปลงบันไดนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยดัดแปลงบันได ส่วนข้อที่ว่าโจทก์ไม่ได้ให้คำอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น เมื่อพิจารณาจากเจตนารมณ์แห่งสัญญาแล้ว เห็นว่า การที่ระบุไว้ในสัญญาว่าจำเลยจะไม่ทำการดัดแปลงหรือต่อเติมอย่างใดแก่ทรัพย์ที่เช่าโดยปราศจากอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ผู้ให้เช่านั้นก็เพื่อความสะดวกแก่การพิสูจน์โดยมีหลักฐานแน่นอนและชัดแจ้งเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเท่านั้นไม่ใช่ว่าโจทก์จะไม่อาจให้คำอนุญาตด้วยวาจาได้เลยประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเมื่อโจทก์ได้อนุญาตด้วยวาจาแล้วเช่นนี้ ก็ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้สละข้อห้ามในสัญญานั้นแล้ว

พิพากษายืน

Share