คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4586/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่า เมื่อเจ้าของยึดทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนมา เพราะผู้เช่าซื้อไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อ เจ้าของมีสิทธินำทรัพย์สินที่เช่าซื้อออกขายตามราคาที่เจ้าของเห็นสมควรโดยไม่ตองบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อทราบ หากราคาที่ขายไม่พอชำระหนี้ ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่ให้เจ้าของจนครบ ข้อกำหนดดังกล่าวตามสัญญาเช่าซื้อใช้บังคับได้โดยมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ เนื่องจากราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นการคิดราคารถรวมกับค่าเช่า และการใช้รถจะต้องมีการเสื่อมราคา จึงสมควรลดค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเช่าซื้อ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 183,550 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นนี้มีว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้องเพียงใดหรือไม่ข้อเท็จจริงคงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาทให้โจทก์เพียง2 งวด แล้วค้างชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไปซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 8 ระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดยอมให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันและยอมให้เจ้าของริบเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วทั้งสิ้นเป็นของเจ้าของ ดังนั้นกรณีนี้จึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2527 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 3 และโจทก์มีสิทธิริบค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1ชำระมาแล้วทั้งหมด นอกจากนั้นสัญญาเช่าซื้อข้อ 4 ยังระบุว่า เมื่อเจ้าของยึดทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนมาแล้วเจ้าของมีสิทธินำทรัพย์สินที่เช่าซื้อออกขายตามราคาที่เจ้าของเห็นสมควรโดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อทราบ หากราคาที่ขายไม่พอชำระหนี้ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่ให้เจ้าของจนครบ เห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวตามสัญญาเช่าซื้อนั้นใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ยึดรถยนต์พิพาทคืนมาได้แล้วขายไปได้ในราคา 701,250 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6จำเลยทั้งสองก็ต้องร่วมกันรับผิดในราคารถยนต์ส่วนที่ขาดอีก183,550 บาท ตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะไม่เชื่อว่าโจทก์ขายรถยนต์พิพาทได้ในราคาเพียง 701,250 บาทจึงไม่เชื่อว่าโจทก์เสียหายจริงนั้น โจทก์ก็มีเอกสารหมาย จ.6 มาแสดงว่าโจทก์ขายรถยนต์พิพาทได้ในราคานั้นจริง ทั้งโจทก์ยังมีนายสมหมาย สิริยานนท์ และนายถนัด เฝ้าทรัพย์ มาเบิกความรับรองเช่นนั้น นอกจากนี้ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 และตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 เอง จำเลยก็ยอมรับว่าโจทก์ขายรถยนต์พิพาทได้ในราคาดังกล่าวจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ขายรถยนต์พิพาทในราคา 701,250 บาทดังที่โจทก์กล่าวอ้างคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนที่จำเลยที่ 2 แก้ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้ต่อเติมรถยนต์พิพาทและติดตั้งเครื่องปรับอากาศกับวิทยุเทปในรถยนต์พิพาททำให้โจทก์ได้รับประโยชน์ โจทก์จึงไม่เสียหายนั้นได้ความว่าโจทก์ขายรถยนต์พิพาทในสภาพที่จำเลยที่ 1 ต่อเติมและติดตั้งเครื่องปรับอากาศวิทยุเทปแล้วยังได้เงินเพียง701,250 บาท ก็ต้องถือว่าโจทก์ยังเสียหายอยู่ตามฟ้อง อย่างไรก็ตามการที่จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ราคารถยนต์พิพาทที่ยังขาดอยู่ตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ยนั้นมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอควรได้ เนื่องจากราคารถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นเป็นการคิดราคารถรวมกันค่าเช่าและการใช้รถจะต้องมีการเสื่อมราคา จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์เพียง 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน130,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share