คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4585/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรญี่ปุ่นและอักษรจีนอ่านออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่นได้สองแบบว่า “อายิโนะโมะโต๊ะ” หรือ”อายิโนะมิโชะ”อ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า”บีจือซู”ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอักษรจีน อักษรไทย และอักษรโรมันว่า “บีซู”ซึ่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่เป็นอักษรจีนเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยอักษรตัวแรกในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเขียนเหมือนกับอักษรตัวแรกในเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือคำว่า “ปี” กับ “อายิ” และมีคำแปลเหมือนกันว่า “รส”และอักษรตัวหลังของเครื่องหมายการค้าของจำเลยเขียนเหมือนอักษรตัวหลังของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คือคำว่า “ชู” กับ คำว่า”โมะโต๊ะ” และมีคำแปลเหมือนกันว่า “ส่วนสำคัญ” เครื่องหมายการค้าของจำเลยต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพียงเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่มีอักษรตัวกลาง แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรตัวกลางเป็นภาษาญี่ปุ่นอ่านออกเสียงว่า “โนะ” เท่านั้น จำเลยใช้อักษรภาษาจีนคำว่า “บีซู”เน้นเป็นจุดเด่นในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นก็เน้นจุดเด่นคำว่า “อายิ”กับคำว่า”โมะโต๊ะ”ตัวอักษรญี่ปุ่นคำว่า”โนะ”มีขนาดเล็กมากมิได้เน้นความเด่นชัดของเครื่องหมายการค้าโจทก์จึงเป็นอักษรที่ไม่มีความหมายสำคัญแก่บุคคลทั่วไปที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น และแม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีอักษรไทยและอักษรโรมันอยู่ด้วย แต่ก็เน้นความเด่นอยู่ที่อักษรจีนเพราะจัดวางไว้ตรงกลาง ความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงมีเพียงเล็กน้อย การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยเหมือนกันหรือคล้ายกันหรือไม่ ต้องพิจารณาส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นเกณฑ์ เมื่อส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นตัวอักษรเหมือนกันอย่างเห็นได้โดยเด่นชัด การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของจำเลยมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ได้ การที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทมาก่อนจำเลยทั้งได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยและต่างประเทศหลายประเทศก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของชื่อและเครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นและอักษรจีนซึ่งอ่านว่า “อายิโนะโมะโต๊ะ” และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเขียนเป็นอักษรญี่ปุ่นและจีน เพื่อใช้กับสินค้าประเภทโมโนโซเดียม กลูตาเมท ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนไว้ในจำพวก 42 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน อักษรจีน และอักษรไทย ซึ่งอ่านว่า “บีซู” ในสินค้าจำพวก 42 รายการสินค้าได้แก่ ซอส น้ำปลา น้ำซีอิ๊ว ผงชูรสน้ำส้มสายชู ซึ่งเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 143451 ของจำเลยนั้นเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนน่าจะทำให้ประชาชนสับสนหลงผิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าคำอักษรญี่ปุ่นและคำอักษรจีนซึ่งอ่านว่า “อายิโนะโมะโต๊ะ” โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย จำเลยไม่มีสิทธิใช้คำภาษาจีนซึ่งอ่านว่า “บีซู” เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย ให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 143451 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและห้ามจำเลยใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอ เลขที่ 143451กับสินค้าจำพวก 42 ทั้งจำพวก และจำพวกอื่นที่มีสินค้าคลุมถึงสินค้าจำพวก 42 ด้วย
จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างว่าได้จดทะเบียนไว้เป็นภาษาญี่ปุ่นมีด้วยกันสามพยางค์ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีทั้งอักษรโรมัน อักษรจีน และอักษรไทย คำว่า “บีซู”จำเลยได้ใช้กับสินค้าของจำเลยโดยสุจริตมาเป็นเวลานาน โฆษณาจนเป็นที่แพร่หลายแก่ประชาชน เมื่อจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าก็ได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนให้จดเครื่องหมายการค้า แม้โจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านไว้ แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้วินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์และยืนยันให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าคำอักษรญี่ปุ่นและอักษรจีนซึ่งอ่านออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่นว่า “อายิโนะโมะโต๊ะ” ดีกว่าจำเลยและจำเลยไม่มีสิทธิใช้คำภาษาจีนซึ่งอ่านว่า “บีซู” เป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยให้จำเลยถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 143451ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามจำเลยใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 143451 กับสินค้าจำพวก 42 ทั้งจำพวก และจำพวกอื่นที่มีสินค้าคลุมถึงสินค้าจำพวก 42 ด้วย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.19 เป็นอักษรญี่ปุ่นและอักษรจีน อ่านออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่นได้สองแบบว่า “อายิโนะโมะโต๊ะ” หรือ “อายิโนะมิโซะ”อ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “บีจือซู” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามสำเนาคำขอจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอักษรจีน อักษรไทย และอักษรโรมันว่า “บีซู” และปรากฏด้วยว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่เป็นอักษรจีนเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมายจ.3 จ.19 และ จ.27 ถึง จ.31 โดยอักษรตัวแรกในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเขียนเหมือนกับอักษรตัวแรกในเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือ คำว่า “บี” กับ “อายิ” และมีคำแปลเหมือนกันว่า “รส” และอักษรตัวหลังของเครื่องหมายการค้าของจำเลยเขียนเหมือนอักษรตัวหลังของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คือคำว่า “ซู” กับ “โมะโต๊ะ”และมีคำแปลเหมือนกันว่า “ส่วนสำคัญ” เครื่องหมายการค้าของจำเลยต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพียงเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่มีอักษรตัวกลาง แต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรตัวกลางเป็นภาษาญี่ปุ่นอ่านออกเสียงว่า “โนะ” เท่านั้น และเมื่อพิเคราะห์สินค้าของจำเลยเห็นได้ว่า จำเลยใช้อักษรภาษาจีนคำว่า “บีซู”เน้นเป็นจุดเด่นในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์ ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นก็เน้นจุดเด่นคำว่า “อายิ” กับคำว่า”โมะโต๊ะ” ตัวอักษรญี่ปุ่นคำว่า “โนะ” มีขนาดเล็กมาก มิได้เน้นความเด่นชัดของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงเป็นอักษรที่ไม่มีความหมายสำคัญแก่บุคคลทั่วไปที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นอีกด้วยเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเน้นความเด่นชัดอยู่ที่ตัวอักษรที่เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “อายิโนะโมะโต๊ะ” ซึ่งเขียนด้วยอักษรขนาดใหญ่ ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยแม้จะมีอักษรไทยและอักษรโรมันอยู่ด้วย แต่ก็เห็นได้ว่าเน้นความเด่นอยู่ที่อักษรที่เขียนเป็นภาษาจีนว่า “บีซู” เพราะจัดวางตัวอักษรดังกล่าวไว้ตรงกลาง ความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยดังกล่าวจึงมีเพียงเล็กน้อย การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยลักษณะดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่ จำต้องพิจารณาส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นเกณฑ์ เมื่อส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นตัวอักษรเหมือนกันอย่างเห็นได้โดยเด่นชัดเช่นนี้ การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของจำเลยมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน อาจทำให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าของโจทก์สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่ ว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่ากันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทมาก่อนจำเลย ทั้งได้จดทะเบียนไว้ในประเทศและต่างประเทศหลายประเทศก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเช่นนี้ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นดุจกัน
ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์นำคดีไปสู่ศาลแล้ว แต่ไม่แจ้งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าทราบภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยมิได้ขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนไว้ คำขอบังคับของโจทก์จึงไร้ประโยชน์นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และข้อฎีกาเกี่ยวกับคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษานั้น ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share