แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรญี่ปุ่นและอักษรจีนอ่านออกเสียงตามภาษาญี่ปุ่นได้สองแบบว่า “อายิโนะโมะโต๊ะ” หรือ “อายิโนะมิโซะ”อ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “บีจือซู” ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นอักษรจีน อักษรไทย และอักษรโรมันว่า”บีซู” ซึ่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่เป็นอักษรจีนเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยอักษรตัวแรกในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเขียนเหมือนกับอักษรตัวแรกในเครื่องหมายการค้าของโจทก์คือคำว่า “ปี” กับ “อายิ” และมีคำแปลเหมือนกันว่า “รส” และอักษรตัวหลังของเครื่องหมายการค้าของจำเลยเขียนเหมือนอักษรตัวหลังของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คือคำว่า “ซู” กับ คำว่า “โมะโต๊ะ”และมีคำแปลเหมือนกันว่า “ส่วนสำคัญ” เครื่องหมายการค้าของจำเลยต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพียงเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่มีอักษรตัวกลางแต่เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรตัวกลางเป็นภาษาญี่ปุ่นอ่านออกเสียงว่า “โนะ”เท่านั้น จำเลยใช้อักษรภาษาจีนคำว่า “บีซู” เน้นเป็นจุดเด่นในเครื่องหมายการค้าของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นก็เน้นจุดเด่นคำว่า “อายิ” กับคำว่า”โมะโต๊ะ” ตัวอักษรญี่ปุนคำว่า “โนะ” มีขนาดเล็กมากมิได้เน้นความเด่นชัดของเครื่องหมายการค้าโจทก์ จึงเป็นอักษรที่ไม่มีความหมายสำคัญแก่บุคคลทั่วไปที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น และแม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีอักษรไทยและอักษรโรมันอยู่ด้วยแต่ก็เน้นความเด่นอยู่ที่อักษรจีนเพราะจัดวางไว้ตรงกลาง ความแตกต่างของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยจึงมีเพียงเล็กน้อย การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยเหมือนกันหรือคล้ายกันหรือไม่ ต้องพิจารณาส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นเกณฑ์ เมื่อส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นตัวอักษรเหมือนกันอย่างเห็นได้โดยเด่นชัด การที่จำเลยนำเครื่อง-หมายการค้าของจำเลยมาใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ได้
การที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทมาก่อนจำเลยทั้งได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยและต่างประเทศหลายประเทศก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลย