คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4584/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมถือว่าการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 คือผู้ล้มละลายย่อมมีอำนาจร้องคัดค้านการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ หากการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับความเสียหายตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ 2ตาม มาตรา 22 คำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและทำการขายทอดตลาดใหม่ โดยอ้างเหตุว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ผิดพลาดทำให้ขายทอดตลาดได้ในราคาต่ำแม้จะมิได้บรรยายว่าตนได้รับความเสียหายอย่างไรมาในคำร้องก็ถือเป็นคำร้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 146 แล้ว กรณีมิใช่เรื่องการดำเนินการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีล้มละลายนี้ได้ แม้การขายทอดตลาดทรัพย์เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการตามขั้นตอนโดยชอบแล้ว แต่เมื่อพิจารณาถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขายทอดตลาดราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตกลงขายให้ผู้ซื้อทรัพย์แม้จะสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีในขณะยึด แต่ก็ต่ำกว่าราคาที่สำนักงานวางทรัพย์กรมบังคับคดีประเมินไว้ ย่อมแสดงว่าราคาขายทอดตลาดดังกล่าวต่ำกว่าราคาขายในท้องตลาดมาก เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งนี้ เป็นการขายทอดตลาดครั้งแรกและจำเลยที่ 1ที่ 2 ได้คัดค้านว่าราคาต่ำไป กรณีจึงไม่ควรด่วนขาย สมควรเลื่อนการขายทอดตลาดไปก่อน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนจะได้มีโอกาสเข้าสู้ราคาได้อีก หากได้ราคาสูงกว่าเดิมก็จะเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และเจ้าหนี้ทั้งปวงที่จะได้รับชำระหนี้โดยทั่วกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6เป็นบุคคลล้มละลายเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และนำออกขายทอดตลาดตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ประมูลซื้อได้ ต่อมาจำเลยที่ 1และที่ 2 ยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมายเจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติไม่ถูกต้อง ประเมินราคาผิดพลาด การขายทอดตลาดจึงต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริง ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและทำการขายทอดตลาดใหม่
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่าการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และผู้ซื้อทรัพย์เสร็จแล้ว ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงไม่ติดใจนำพยานเข้าสืบแต่ต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 สืบพยานเพิ่มเติมระหว่างการสืบพยานเพิ่มเติม ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แล้วมีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้หรือไม่
ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ทั้งตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2ก็ไม่ได้อ้างว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับความเสียหายอย่างไรและการขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงไม่มีเหตุที่จะพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อไป มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในเบื้องต้นว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เด็ดขาดเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินรวม 7 โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 โดยประเมินราคารวมกันไว้ 2,744,600 บาทแต่สำนักงานวางทรัพย์กลางประเมินราคาไว้ 5,778,746 บาทออกขายทอดตลาดตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่8 มีนาคม 2531 ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน4,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 คัดค้านว่าราคาต่ำไป เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกผู้ซื้อทรัพย์เข้าไปเจรจา และตกลงเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคาดังกล่าว วันที่ 11 มีนาคม 2531 จำเลยที่ 1ที่ 2 ยื่นคำร้องว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและทำการขายทอดตลาดใหม่ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวหรือไม่ และคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2เป็นการร้องต่อศาลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้ ย่อมถือว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 1 ที่ 2คือผู้ล้มละลายย่อมมีคำร้องคัดค้านการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ หากการกระทำของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับความเสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามมาตรา 22แต่อย่างใด และตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และทำการขายทอดตลาดใหม่โดยอ้างเหตุว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ผิดพลาดจึงทำขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายที่แท้จริงมากซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องย่อมเห็นได้ว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับความเสียหายเพราะทำให้ได้เงินมาชำระหนี้สินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 น้อยลงกว่าที่ควรซึ่งศาลอาจสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและทำการขายใหม่ได้แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมิได้บรรยายว่าตนได้รับความเสียหายอย่างไรมาในคำร้องก็ถือเป็นคำร้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 146 แล้วกรณีไม่ใช่เรื่องการดำเนินการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีล้มละลายนี้ได้ ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพิ่มเติมแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์โดยมิได้ฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อไป และจากพยานหลักฐานที่คู่ความทุกฝ่ายนำเข้าสืบมาแล้วเพียงพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปโดยไม่จำต้องส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อทำการสืบพยานเพิ่มเติมและมีคำสั่งใหม่
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สมควรยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า แม้การขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการตามขั้นตอนโดยชอบแล้ว แต่เมื่อพิจารณาถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ขายทอดตลาดตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานครติดซอยนาทอง 4 ถึงซอยนาทอง 6ห่างจากถนนรัชดาภิเษกเพียงประมาณ 300 เมตร ราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีตกลงขายให้ผู้ซื้อทรัพย์เป็นเงิน 4,000,000 บาท นั้นแม้จะสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีในขณะยึดแต่ก็ต่ำกว่าราคาที่สำนักงานวางทรัพย์กรมบังคับคดี ประเมินไว้ถึง1,778,746 บาท นายวิทยา เผ่าวงค์ษา เจ้าหน้าที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี ผู้ประเมินราคาทรัพย์รายนี้มาเบิกความว่า การประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประเมินจากราคาประเมินของกรมที่ดินและราคาซื้อขายในละแวกใกล้เคียง ถัว*เฉลี่ยกันออกมาเป็นราคาประเมิน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงในสำนวนจะไม่ปรากฏว่าราคาซื้อขายในท้องตลาดของทรัพย์รายนี้มีเพียงใด แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า ต้องมีราคาสูงกว่าราคาประเมินของสำนักงานวางทรัพย์กรมบังคับคดี ย่อมแสดงว่า ราคาขายทอดตลาดดังกล่าวต่ำกว่าราคาขายในท้องตลาดมาก เมื่อการขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งนี้ เป็นการขายทอดตลาดครั้งแรกและจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้คัดค้านแล้วว่าราคาต่ำไป กรณีจึงไม่ควรด่วนขายไป สมควรเลื่อนการขายทอดตลาดไปก่อน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนอื่นจะได้มีโอกาสเข้าสู้ราคาได้อีกหากได้ราคาสูงขึ้นกว่าเดิมก็จะเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2และเจ้าหนี้ทั้งปวงที่จะได้รับชำระหนี้โดยทั่วกัน ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกเลิกการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้วดำเนินการขายทอดตลาดใหม่

Share