คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินแต่ใส่ชื่อ น. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนต่อมามีการจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจำนอง เป็นการกล่าวอ้างว่าการที่มี ชื่อ น. ในโฉนดเป็นเพียงการถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยเท่านั้นมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ น. โดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ อันผู้ร้องจะต้องร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยกับ น.ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 ผู้ร้องจึงร้องขอให้เพิกถอนการจำนองได้โดยตรง แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องจะเคยมีความเห็นว่าผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจึงไม่เพิกถอนการจำนองก็ตาม แต่เมื่อได้มีการสั่งให้สอบสวน ถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อีกครั้งแล้ว ผู้ร้องจึงยื่นคำร้อง ขอเพิกถอนการจำนองต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 เพราะอำนาจในการร้องขอให้เพิกถอน ไม่อาจสละได้ ผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนจึงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านจำนองไว้โดยไม่สุจริตไปด้วยแม้ผู้คัดค้านได้ฟ้องบังคับจำนองในระหว่างที่คดีล้มละลายอยู่ในชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องสอบสวนเพื่อพิจารณาร้องขอเพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทและผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผู้คัดค้านกลายเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดไปโดยสุจริต เมื่อผู้คัดค้านเพิ่งฟ้องบังคับจำนองหลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดจึงถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีที่ผู้คัดค้านฟ้องบังคับจำนองนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์การบังคับคดีและการที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จึงใช้ยันแก่ผู้ร้องไม่ได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายวันที่8 มกราคม 2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่26 มกราคม 2530 ตามทางสอบสวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 28ธันวาคม 2527 จำเลยได้ซื้อที่ดินรวม 9 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนางไพเราะ พงษ์ศิลป์ ในราคา 18,000,000 บาท โดยใส่ชื่อนางนันทา อัญชันบุตร มารดาของจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 จำเลยโดยนางนันทาผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้คัดค้านเป็นเงิน 15,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีในระหว่างที่ผู้ร้องสอบสวนเพื่อพิจารณาร้องขอเพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านได้ฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อทรัพย์รายนี้ได้ในราคา 13,700,000 บาทแต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ การที่จำเลยยอมให้นางนันทาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแล้วจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ผู้คัดค้านเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางนันทามิใช่ถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลย ผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนผู้ร้องยังมิได้ร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยกับนางนันทาที่ดินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนางนันทา มิใช่ทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ผู้ร้องไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนการจำนองทั้งผู้ร้องมิได้ขอให้ศาลชั้นต้นงดการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไว้ก่อนจนกระทั่งการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ถือว่าผู้ร้องสละสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 110 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้คัดค้านได้รับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่มีค่าตอบแทน ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ผู้ร้องได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านได้รับจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 34612 ถึง 34615, 76437, 76439, 76012 (ที่ถูกเป็น 76102), 76103, 76104 ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ)อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านกับนางนันทา อัญชันบุตร ผู้คัดค้านอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2529ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 และพิพากษาให้ล้มละลาย เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2530 ที่ดินพิพาททั้ง 9 โฉนด ปรากฏทางทะเบียนว่ามีนางนันทามารดาจำเลยเป็นเจ้าของ โดยซื้อมาจากนางไพเราะ พงษ์ศิลป์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2527 และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 นางนันทาได้จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่ผู้คัดค้านเป็นเงิน15,000,000 บาท ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน เอกสารหมาย ร.20ต่อมาผู้คัดค้านได้ฟ้องบังคับจำนอง และศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางนันทาชำระหนี้ หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาด เมื่อมีการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนอง ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และจดทะเบียนระงับการจำนอง
ปัญหาแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่าที่ดินพิพาทมีชื่อนางนันทาเป็นเจ้าของ การที่ผู้ร้องอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่ให้นางนันทาถือกรรมสิทธิ์แทน ผู้ร้องจะต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการฉ้อฉลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113 ให้ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยก่อน จึงจะมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการจำนอง การที่ผู้ร้องมาร้องขอให้เพิกถอนการจำนองโดยตรงจึงเป็นการมิชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่ใส่ชื่อนางนันทาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ต่อมามีการจดทะเบียนจำนองแก่ผู้คัดค้านในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย โดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจำนอง เป็นการกล่าวอ้างว่าการที่มีชื่อนางนันทาในโฉนดเป็นเพียงการถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยเท่านั้นมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่นางนันทาโดยรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบอันผู้ร้องจะต้องร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยกับนางนันทาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 113ผู้ร้องจึงร้องขอให้เพิกถอนการจำนองในคดีนี้ได้โดยตรง ฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่สองตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า นางนันทาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างหรือไม่ เห็นว่าผู้ร้องมีนางไพเราะ พงษ์ศิลป์ เจ้าของที่ดินพิพาทเดิมเป็นพยานเบิกความว่า นางไพเราะเป็นผู้ไปเสนอขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเอง พาจำเลยไปดูที่ดินพิพาทและตกลงขายในราคา 18,000,000 บาท แต่จดทะเบียนซื้อขายกันเพียง10,500,000 บาท เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมการโอน โดยจำเลยให้ใส่ชื่อนางนันทามารดาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน ในเรื่องการชำระราคากันนี้ก็ได้ความจากนายพรชัย วัฒนะสิงหะพยานผู้ร้องซึ่งเป็นสมุห์บัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดสาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ประกอบกับสำเนาการ์ดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยตามเอกสารหมาย ร.3 ว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2527อันเป็นวันก่อนวันจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทนี้เพียง 1 วันมีการถอนเงินจำนวน 18,000,000 บาท จากบัญชีของจำเลยดังกล่าวและในวันเดียวกันธนาคารได้ออกแคชเชียร์เช็ค 6 ฉบับ สั่งจ่ายให้แก่กรมที่ดิน นายอนุสรณ์ อัญชันบุตร ผู้รับมอบอำนาจการจดทะเบียนรับโอนจากนางนันทา และนางไพเราะผู้ขายรวมเป็นเงิน 17,450,000 บาท ตามเอกสารหมาย ร.37เงินส่วนที่เหลือนางไพเราะเบิกความว่านายอนุสรณ์ได้หักไว้อ้างว่าเป็นประกันค่าไฟฟ้าและประปา ต่อมานางไพเราะได้มีหนังสือทวงถามไปยังนางนันทาให้ชำระเงินดังกล่าว ในที่สุดนายอนุสรณ์ก็ได้ชำระให้หมดแล้ว เหตุที่นางไพเราะมีหนังสือทวงถามไปถึงนางนันทาทั้งที่ทราบว่านางนันทาเป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยก็เพราะปรากฏทางทะเบียนว่านางนันทาเป็นผู้ซื้อ จากพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาโดยผู้คัดค้านมิได้สืบหักล้างฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยเป็นผู้ชำระราคาดังกล่าวเอง เพียงแต่ให้นางนันทาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเท่านั้น ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่สาม ผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทโดยมีค่าตอบแทนหรือไม่ เห็นว่า ที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า การรับจำนองนี้มีการจ่ายเงินจำนองจำนวน 15,000,000 บาท ให้แก่นางนันทาจริง โดยจ่ายเป็นเงินสหรัฐ 550,000 ดอลลาร์ และเงินไทยอีก 150,000 บาทนายไพรัตน์ แหวนหล่อ ผู้รับมอบอำนาจจากนางนันทา เป็นผู้รับแทนโดยออกใบรับให้ด้วยดังปรากฏตามเอกสารหมาย ค.14แต่ปรากฏจากคำเบิกความของผู้คัดค้านว่า การจ่ายเงินนี้ได้กระทำที่บริษัทเร่งพัฒนา จำกัด ภายหลังจากที่มีการจดทะเบียนจำนองในวันนั้นแล้ว ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าผู้จำนองจะยอมจดทะเบียนจำนองให้ก่อนแล้วจึงมีการตามมารับเงินจำนองอีกทีหนึ่งซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อย ที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า เงินสกุลสหรัฐดังกล่าวผู้คัดค้านเก็บสะสมมาจากการขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ประเทศลาวในระหว่างปี 2513 ถึง 2519 ก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะผู้คัดค้านเป็นนักธุรกิจไม่น่าจะเก็บเงินจำนวนมากอยู่กับบ้านโดยมิได้นำไปประกอบธุรกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์งอกเงยเป็นเวลากว่าสิบปีที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเก็บไว้เก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก็ไม่สมเหตุสมผลเพราะหากนำไปฝากธนาคารในช่วงเวลาเดียวกันจะได้ดอกเบี้ยมากกว่าค่าของเงินสกุลดังกล่าวที่สูงขึ้นไปทั้งการรับจำนองในครั้งนี้ผู้คัดค้านก็อ้างว่าไม่เคยรู้จักนางนันทามาก่อน แต่รับจำนองโดยคิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 5 ต่อปีต่ำกว่าดอกเบี้ยที่จะได้จากธนาคารในการฝากประจำเสียอีก นอกจากนี้ยังขัดกับที่ผู้คัดค้านเคยให้การไว้ต่อผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.35 ซึ่งให้การว่า เงินจำนองที่จ่ายให้ผู้จำนองนี้ผู้คัดค้านเบิกมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่งเช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด บริษัทเงินทุนพรประภาจำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด แต่ปรากฏว่าบริษัททั้งสามดังกล่าวได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย ร.24-ร.26แจ้งผู้ร้องว่า ในช่วงปี 2528 อันเป็นปีที่ผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทไว้ ผู้คัดค้านไม่มีเงินฝากอยู่ที่บริษัททั้งสามดังกล่าวผู้คัดค้านจึงมานำสืบในชั้นศาลใหม่ว่าเป็นการนำเงินสดที่เก็บไว้ดังกล่าวมาจ่ายให้ผู้จำนอง ข้อนำสืบของผู้คัดค้านที่ว่ามีการจ่ายเงินจำนองจริงจึงไม่น่าเชื่อถือ คดีฟังได้ว่า ผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทน ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่สี่ ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องได้สละสิทธิในการร้องขอให้เพิกถอนการจำนองแล้ว เพราะนาวาอากาศเอกฉนากเจริญรุกข์ เคยขอให้ผู้ร้องดำเนินการร้องขอให้เพิกถอนการจำนองรายนี้ แต่นายยงยุทธ จิตรอารีย์กุล ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเคยยกคำร้องของนาวาอากาศเอกฉนากตามความเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ผู้คัดค้านรับจำนองไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน จึงไม่อาจเพิกถอนการจำนองได้อีกศาลฎีกาเห็นว่า แม้ผู้ร้องจะเคยมีความเห็นดังกล่าว แต่ก็ปรากฏว่ามีการสั่งให้สอบสวนถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อีกครั้งแล้วจึงยื่นเป็นคำร้องขอเพิกถอนการจำนองเป็นคดีนี้ แม้ผู้ร้องจะเคยมีความเห็นไม่ร้องขอให้เพิกถอนการจำนองก็ตาม ก็ไม่ตัดอำนาจของผู้ร้องในการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการจำนองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 เพราะอำนาจในการร้องขอให้เพิกถอนไม่อาจสละได้ ฎีกาของผู้คัดค้านในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ปัญหาสุดท้าย ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้คัดค้านได้ฟ้องบังคับจำนองจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บังคับจำนองและนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด และผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้โดยปลอดจำนอง การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้ว ผู้ร้องไม่อาจขอให้เพิกถอนการจำนองและกระทำให้กระทบถึงสิทธิของผู้คัดค้านในฐานะผู้ซื้อโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 110 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยไม่มีค่าตอบแทนดังวินิจฉัยข้างต้น จึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านรับจำนองไว้โดยไม่สุจริต แม้ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผู้คัดค้านกลายเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดไปโดยสุจริตเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้คัดค้านเพิ่งฟ้องบังคับจำนองเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2530 หลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2529 จึงฟังไม่ได้ว่าการบังคับคดีที่ผู้คัดค้านฟ้องบังคับจำนองนั้นได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้ การบังคับคดีและการที่ผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ในคดีดังกล่าวจึงใช้ยันแก่ผู้ร้องไม่ได้ตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง ฎีกาของผู้คัดค้านทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share