คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4581/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดให้คู่ความที่โต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องแสดงเหตุผลที่โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำแถลงก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยระบุใจความว่า จำเลยขอโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา จึงเป็นการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาไว้แล้ว ที่ศาลชั้นต้นเกษียณสั่งคำแถลงฉบับนี้ว่ารวมเป็นคำแถลงเท่านั้น ย่อมเป็นการสั่งรับคำแถลงแล้ว ส่วนที่ศาลชั้นต้นเกษียณต่อไปว่า “หากจะโต้แย้งคำสั่งศาลจะต้องมีเหตุผลที่อ้างว่าด้วยเหตุใดหรือเพราะอะไรจึงโต้แย้ง กรณีแถลงมาลอยๆ มิใช่ใช้สิทธิโต้แย้ง” นั้น ก็เป็นเพียงความเห็นของศาลชั้นต้นเท่านั้นจึงต้องถือว่าจำเลยโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้แล้วตามคำแถลงฉบับดังกล่าว ชอบที่จำเลยจะอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้
โจทก์มีหนังสือทวงถามฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2541 โดยให้โอกาสจำเลยชำระหนี้ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 22 เดือนเดียวกันครบกำหนดตามหนังสือดังกล่าวในวันที่ 2 ตุลาคม 2541 จำเลยไม่ชำระหนี้ตกเป็นการผิดนัดจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2541 อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไป ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2536 โจทก์นำที่ดินโฉนดเลขที่ 16397 ถึง 16400 จำนวน 4 แปลง ไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่มีต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 6,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี และโจทก์ยังไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยให้ไว้แก่ธนาคารในวงเงินดังกล่าวอีกด้วย ต่อมาปลายปี 2540 โจทก์ถูกธนาคารเร่งรัดให้ชำระหนี้ในฐานะผู้จำนองและค้ำประกันเนื่องจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จึงชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2541 เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 6,300,000 บาท แล้วโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้คืนแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2541 คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 183,821 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,483,821 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,300,000 บาท นัดถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากธนาคารตามฟ้องจริงแต่เป็นการกู้ยืมเงินแทนนางสาวยุพิน พนิชน์สกุล ผู้ร้บมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นน้องสาวของโจทก์ และนางสาวยุพินเป็นผู้รับเงินที่กู้จากธนาคารไปใช้ประโยชน์คนเดียว โจทก์รู้มาแต่ต้นแล้วว่าการจดทะเบียนจำนองที่ดินและทำสัญญาค้ำประกันของโจทก์เป็นการประกันหนี้เงินกู้ของนางสาวยุพินมิใช่จำเลย โจทก์กับนางสาวยุพินร่วมคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยโดยนำเอาหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลย และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามฟ้องจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 6,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่าจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยต่อไปหรือไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 ฯลฯ (2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ฯลฯ ตามบทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้คู่ความที่โต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องแสดงเหตุผลที่โต้แย้งคำสั่งนั้นไว้แต่อย่างใด ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 16 มิถุนายน 2543 ไว้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยระบุใจความว่า จำเลยขอโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยเพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา จึงเป็นการโต้แย้งคำสั่งระหว่างพิจารณาไว้แล้ว ที่ศาลชั้นต้นเกษียณสั่งคำแถลงฉบับนี้ว่า รวมเป็นคำแถลงเท่านั้น ย่อมเป็นการสั่งรับคำแถลงนั้น ส่วนที่ศาลชั้นต้นเกษียณต่อไปว่า “หากจะโต้แย้งคำสั่งศาลจะต้องมีเหตุผลที่อ้างว่าด้วยเหตุใดหรือเพราะอะไรจึงโต้แย้ง กรณีแถลงมาลอยๆ มิใช่ใช้สิทธิโต้แย้ง” นั้น ก็เป็นเพียงความเห็นของศาลชั้นต้นเท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้แล้วตามคำแถลงฉบับดังกล่าวชอบที่จำเลยจะอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยถือว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ก่อนจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไป โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาในปัญหานี้ เห็นว่า ศาลชั้นต้นเคยอนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีสืบพยานจำเลยในวันที่ 15 มีนาคม 2543 มาครั้งหนึ่งแล้วโดยได้กำชับให้จำเลยเตรียมพยานมาสืบให้ได้ในนัดหน้า มิฉะนั้น จะมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลย ครั้นถึงวันสืบพยานจำเลยตามวันนัดที่เลื่อนมา ทนายมอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนคดีมายื่นต่อศาลแทนอ้างว่า พยานจำเลยซึ่งเป็นสามีจำเลยและทนายจำเลยป่วยแต่อาการป่วยเจ็บของพยานจำเลยตามใบรับรองแพทย์ท้ายคำร้องเป็นเพียงการป่วยเป็นไข้หวัด มีอาการไข้ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย แพทย์ลงความเห็นว่า ควรอนุญาตให้หยุดพักรักษาตัวในวันนัดดังกล่าวเท่านั้น ไม่ใช่อาการป่วยเจ็บร้ายแรงจนถึงขั้นไม่สามารถมาศาลได้ ส่วนอาการป่วยเจ็บของทนายจำเลยตามคำร้องดังกล่าวที่อ้างว่า ป่วยเป็นโรคท้องเสียมีอาการถ่ายเป็นน้ำหลายครั้ง เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน ไอ และอ่อนเพลียนั้นก็ไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคและทนายจำเลยไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง ไม่น่าเชื่อว่าทนายจำเลยไม่สามารถมาศาลในวันนัดได้ การที่ทนายจำเลยและพยานจำเลยไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย ทั้งๆ ที่ศาลชั้นต้นได้กำชับไว้แล้วดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยต่อไปนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในฐานผิดนัดนับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2541 นั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์มีหนังสือทวงถามฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2541 โดยให้โอกาสจำเลยชำระหนี้ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ ได้รับหนังสือทวงถามตามเอกสารหมาย จ.10 จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 22 เดือนเดียวกันตามใบตอบรับเอกสารหมาย จ.11 ครบกำหนดตามหนังสือดังกล่าวในวันที่ 2 ตุลาคม 2541 จำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเป็นการผิดนัดจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2541 อันเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246, 247″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 6,000 บาท แทนโจทก์

Share