คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3045/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกไม่ได้แจ้งข้อความที่ประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนต่อหน้าพยานทั้งสองคนพร้อมกัน พินัยกรรมที่ทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705
ภ. และ ก. ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานพร้อมกันในขณะจัดทำพินัยกรรม ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกันซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ดังนี้ พินัยกรรมจึงมิได้ทำขึ้นตามแบบที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นหลานของนายวน บุญธนะไพศาลวงค์ นายวนถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2542 ก่อนตายผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินโฉนดเลขที่ 8740 ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมบ้านเลขที่ 31/2 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ร้องได้ติดต่อกับนายทะเบียนที่ดินเพื่อขอรับโอนทรัพย์มรดก แต่เนื่องจากที่ดินติดจำนองอยู่กับธนาคาร จึงเป็นเหตุขัดข้องไม่อาจดำเนินการได้ ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านในทำนองเดียวกันว่า ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายเจ็บป่วยมีลักษณะเป็นบุคคลวิกลจริตไม่สามารถประกอบกิจการงานได้ ผู้ตายทำพินัยกรรมขณะที่ขาดสติสัมปชัญญะ และไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานในขณะที่ให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ พินัยกรรมที่ยกทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องจึงตกเป็นโมฆะ ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายผู้คัดค้านทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายที่เกิดกับนางเผือด บุญธนะไพศาลวงค์ เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายมีสิทธิได้รับมรดก ขอให้ศาลยกคำร้องขอและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จริงเบื้องต้นฟังเป็นที่ยุติว่าเจ้ามรดกมีบุตร 3 คน คือ มารดาผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสอง บุตรทุกคนของเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องในประการแรกว่า พินัยกรรมที่ทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย ร.1 นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้ร้องมีตัวผู้ร้องและพยานในพินัยกรรมคือนางสาวกรองแก้ว น้ำผึ้ง มาเบิกความตอบคำซักถามและตอบค้านทนายผู้คัดค้านที่ 1 และทนายผู้คัดค้านที่ 2 สรุปความว่า เจ้ามรดกทำพินัยกรรมต่อหน้านางสาวกรองแก้ว น้ำผึ้ง และนางสาวเรืองรอง แช่มรอย ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมพร้อมกันทั้งสองคน ฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสองมีตัวผู้คัดค้านทั้งสองมานำสืบต่อสู้สรุปรวมความว่าก่อนถึงแก่ความตาย เจ้ามรดกมีสภาพเจ็บป่วยสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เพราะคุ้มดีคุ้มร้าย มีการลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่รถแท็กซี่โดยนางสาวกรองแก้วนำมาให้ลงลายมือชื่อเพียงคนเดียว พยานในพินัยกรรมและนายภิรมย์ ชมจันทร์ ปลัดอำเภอซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายทะเบียนไม่ได้ลงนามพร้อมกัน เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658 บัญญัติมีใจความตาม (1) ว่า การทำพินัยกรรมที่เป็นเอกสารฝ่ายเมือง ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอ (ปัจจุบันคือนายอำเภอหรือผู้รักษาการแทน) ต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งแม้ตัวผู้ร้องจะมีนางสาวกรองแก้วพยานในพินัยกรรมคนหนึ่งมายืนยันว่า ขณะจัดทำพินัยกรรมมีนางสาวเรืองรอง แช่มรอย พยานในพินัยกรรมอีกคนหนึ่งอยู่ด้วยพร้อมกัน แต่พยานผู้ร้องอีกปากหนึ่งที่เป็นผู้รับรองเอกสารในฐานะปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอคือนายภิรมย์ ชมจันทร์ กลับเบิกความตอบคำซักถามทนายผู้ร้องว่าพยานไปพบนายวน (คือเจ้าพนักงาน) ที่รถพร้อมกับนางสาวกรองแก้ว โดยไม่ได้เอ่ยถึงนางสาวเรืองรองเลย และยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายผู้คัดค้านที่ 2 ว่านางสาวกรองแก้วเป็นผู้พาพยานไปที่รถ นางสาวเรืองรองไม่ได้ไปด้วยและอีกประโยคหนึ่งว่าขณะนางสาวกรองแก้วกับนางสาวเรืองรองลงลายมือชื่อเป็นพยาน (ในพินัยกรรม) ตัวนายภิรมย์ไม่เห็นและ (ทั้งสอง) จะลงลายมือชื่อเมื่อใดไม่ทราบ แสดงว่า เจ้ามรดกไม่ได้แจ้งข้อความที่ประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนต่อหน้าพยานทั้งสองคนพร้อมกัน พินัยกรรมที่ทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองตามเอกสารหมาย ร.1 ย่อมตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1705 พยานปากนี้แม้เป็นพยานหมาย แต่ก็มาเป็นพยานฝ่ายผู้ร้องและเป็นผู้รับรองเอกสารตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อเบิกความเป็นปรปักษ์ต่อตนเองเช่นนี้จึงมีเหตุผลในการรับฟัง แม้พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.1 จะเป็นเอกสารราชการก็ตาม ทั้งกรณีก็มิใช่เป็นการรับฟังพยานบุคคลแทนเอกสาร หากแต่เป็นการฟังพยานบุคคลเพื่อพิสูจน์เอกสารซึ่งรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย นอกจากนี้ยังหาใช่เป็นเรื่องค้นหาเจตนาที่แท้จริงของเจ้ามรดกว่าประสงค์จะยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องไม่ตามฎีกาของผู้ร้องอีกด้วย ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาประการต่อมาว่าถึงหากไม่อาจรับฟังเป็นพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง แต่ควรรับฟังเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 นั้น เห็นว่า พินัยกรรมฉบับนี้ได้ทำต่อหน้านายภิรมย์ ซึ่งอาจถือได้ว่านายภิรมย์เป็นพยานในพินัยกรรมแบบธรรมดาอีกผู้หนึ่ง ก็ตาม แต่นายภิรมย์ก็ไม่เห็นขณะที่นางสาวกรองแก้วและนางสาวเรืองรองลงลายมือชื่อเป็นพยาน และไม่ทราบว่าลงลายมือชื่อเมื่อใดแสดงว่านายภิรมย์และนางสาวกรองแก้วไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานพร้อมกันในขณะจัดทำพินัยกรรม ส่วนนางสาวเรืองรองข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าไม่ได้อยู่ด้วยขณะจัดทำพินัยกรรม จึงฟังไม่ได้ว่าพยานสองคนได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมพร้อมกันขณะนั้นซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า …ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกันซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ดังนี้ พินัยกรรมฉบับนี้จึงมิได้ทำขึ้นตามแบบที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ ย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 เมื่อทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1) คือ มารดาผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้สืบสันดานของผู้ตาย จึงเป็นทายาทและถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share