แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยใช้มีดดาบฟันผู้เสียหาย 2 ครั้ง ขณะผู้เสียหายอยู่ในมุ้งแล้วจำเลยไม่ได้ฟันซ้ำอีกทั้งที่มีโอกาสกระทำได้ ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่แขนและใบหูไม่ถึงสาหัส บาดแผลที่ใบหูผู้เสียหายเป็นบาดแผลในแนวราบ ซึ่งหากคมมีดถูกศีรษะผู้เสียหายโดยแรง ใบหูผู้เสียหายย่อมขาด และคมมีดย่อมบาดเข้าในขมับผู้เสียหายเป็นแผลลึกการที่มีบาดแผลเพียงใบหูเกือบขาด แสดงว่าคมมีดถูกศีรษะผู้เสียหายไม่แรง ส่วนที่มีมุ้งกีดขวาง เป็นสภาพที่มีอยู่ก่อนจำเลยลงมือกระทำหากจำเลยมีเจตนาให้เกิดบาดแผลร้ายแรงแก่ผู้เสียหาย จำเลยย่อมกระทำให้สัมฤทธิ์ผลได้ เช่น ฟันให้แรงขึ้น หรือฟันสายมุ้งให้ขาดและผ้ามุ้งคลุมแนบตัวผู้เสียหายแล้วจึงฟันผู้เสียหาย หรือตลบมุ้งขึ้นก่อนแล้วจึงฟันผู้เสียหาย พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยโดยเจตนาฆ่า ได้ใช้มีดยาวประมาณ 70 เซนติเมตรฟันศีรษะนายเลิศ ยังประสม ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นบิดาจำเลยหลายครั้ง จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เนื่องจากผู้เสียหายหลบหลีกและยกแขนรับมีดไว้ได้ทัน คมมีดที่จำเลยใช้ฟันถูกผู้เสียหายที่ใบหูซ้ายและแขนซ้าย เป็นเหตุให้ใบหูซ้ายเป็นแผลฉีกขาด และเป็นบาดแผลถลอกที่แขนซ้าย ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 289(1) จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(1) ประกอบด้วยมาตรา 80 ให้จำคุกตลอดชีวิตลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ให้จำคุก 33 ปี4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ลงโทษจำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า จำเลยใช้มีดดาบฟันผู้เสียหาย 2 ครั้ง ขณะผู้เสียหายอยู่ในมุ้ง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยฟันผู้เสียหายเพียง 2 ครั้ง แล้วไม่ได้ฟันซ้ำอีกทั้งที่มีโอกาสกระทำได้ ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่แขนและใบหูไม่ถึงสาหัส หากจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย น่าจะฟันซ้ำอีกหลายครั้ง ที่โจทก์กล่าวในฎีกาว่าจำเลยคงคิดว่าผู้เสียหายถึงแก่ความตายจึงหนีไป เป็นเพียงการคาดคะเนไม่มีพยานหลักฐานอันจะนำมาสนับสนุนให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยเช่นนั้นได้ที่โจทก์กล่าวในฎีกาว่า หากผู้เสียหายหลบไม่ทันและมุ้งไม่กีดขวาง ศีรษะผู้เสียหายคงแยกเป็น 2 เสี่ยงนั้น ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ เอกสารท้ายฟ้องปรากฏว่าบาดแผลที่ใบหูผู้เสียหายเป็นบาดแผลในแนวราบ ใบหูเกือบขาดฟังได้ว่าจำเลยฟันถูกศีรษะผู้เสียหายแล้วตรงใบหูโดยฟันในแนวราบ ซึ่งหากคมมีดถูกศีรษะผู้เสียหายโดยแรง ใบหูผู้เสียหายย่อมขาดและคมมีดย่อมบาดเข้าในขมับผู้เสียหายเป็นแผลลึก การที่มีบาดแผลเพียงใบหูเกือบขาดเท่านั้น แสดงว่าคมมีดถูกศีรษะผู้เสียหายไม่แรง ส่วนข้อที่มีมุ้งกีดขวางนั้น เป็นสภาพที่มีอยู่ก่อนจำเลยลงมือกระทำ หาใช่เหตุขัดขวางที่เกิดขึ้นภายหลังลงมือกระทำ หากจำเลยมีเจตนาให้เกิดบาดแผลร้ายแรงแก่ผู้เสียหายจำเลยย่อมกระทำให้สัมฤทธิ์ผลได้ เช่น ฟันให้แรงขึ้นหรือฟันสายมุ้งให้ขาดและผ้ามุ้งคลุมแนบตัวผู้เสียหายแล้วจึงฟันผู้เสียหายหรือตลบมุ้งขึ้นก่อนแล้วจึงฟันผู้เสียหาย พยานโจทก์ที่นำสืบและพฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์ภาค 7วินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายนั้นชอบแล้ว การกระทำของจำเลยฟังได้ว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าบุพการี แม้ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า หากรับฟังว่าเป็นเพียงกรณีทำร้ายร่างกายก็จะต้องลงโทษฐานทำร้ายร่างกายบุพการีก็ตาม ย่อมแปลได้ว่า โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 ด้วยแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ และศาลฎีกาเห็นต่อไปว่าตามพฤติการณ์แห่งคดีการกระทำของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรงไม่ยำเกรงต่อบุพการีควรลงโทษในสถานหนัก”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 ลงโทษจำคุก 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี