คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4579/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทโดยเมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ไว้ ซึ่งเป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำเลยที่ 1 จึงยังเป็นหนี้ต่อโจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอยู่ ดังนั้นข้อตกลงที่จะระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทจึงมีผลใช้บังคับ และตามสัญญาทรัสต์รีซีทระบุว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์มีสิทธิใช้ดุลพินิจเปลี่ยนหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทได้นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นฝ่ายผิดนัด ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยดังกล่าวชำระหนี้เป็นสกุลเงินบาทได้ แม้หนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตลอดจนตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจะแสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศก็ตาม
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท การที่จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ก็เพื่อการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทระบุถึงข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไว้ว่า “…ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) ยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราสูงสุดนับแต่วันที่ข้าพเจ้าตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น…” แสดงว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในต้นเงินที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว ไม่ใช่กรณีไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดที่จะคิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.2536 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจอันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกและการนำเข้าและการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ มีหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธรเทวกุลเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์มีอำนาจคิดดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าได้สูงสุดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามประกาศกระทรวงการคลัง และโจทก์สามารถปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2540 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อโจทก์ในวงเงิน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อประกอบการสั่งซื้อชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศ โจทก์ตกลงเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตตามคำขอดังกล่าว ต่อมาโจทก์ชำระค่าสินค้าให้แก่ธนาคารตัวแทนของผู้ขายจำนวน 23,717.61 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารสิทธิไปรับสินค้า โดยสัญญาว่าจะชำระเงินจำนวน 23,717.61 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8.4375 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินค่าสินค้าแทน ภายในวันที่ 10 มีนาคม 2541 หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดและสามารถปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ และโจทก์สามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันเวลาใดตามที่เห็นสมควร นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 23,717.61 ดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ยร้อยละ 8.4375 ต่อปี ครบกำหนดชำระวันที่ 10 มีนาคม 2541 มอบให้แก่โจทก์ เพื่อเป็นการชำระหนี้ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2540 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อโจทก์ในวงเงิน 49,650 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อประกอบการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศ โจทก์ตกลงเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้ตามคำขอดังกล่าว ต่อมาโจทก์ชำระค่าสินค้าให้แก่ธนาคารตัวแทนของผู้ขาย 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จำนวน 32,309.06 ดอลลาร์สหรัฐ ครั้งที่ 2 จำนวน 10,793.68 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารสิทธิไปรับสินค้า โดยสัญญาว่าจะชำระเงินจำนวน 32,309.06 ดอลลาร์สหรัฐ และ 10,793.68 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินค่าสินค้าไปภายในวันที่ 19 มีนาคม 2541 หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดและสามารถปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ และโจทก์สามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันเวลาใดตามที่เห็นสมควร นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2540 ฉบับที่ 1 จำนวน 32,309.06 ดอลลาร์สหรัฐ ฉบับที่ 2 จำนวน 10,793.68 ดอลลาร์สหรัฐ มอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ และให้วันที่ 10 กันยายน 2540 จำเลยที่ 1 ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อโจทก์อีกฉบับหนึ่งในวงเงิน 16,860 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศ ต่อมาโจทก์ชำระค่าสินค้าให้แก่ธนาคารตัวแทนของผู้ขายจำนวน 16,477.56 ดอลลาร์สหรัฐ ตามเลตเตอร์ออฟเครดิต เลขที่ EXIM 01-193/1997 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้ต่อโจทก์ เพื่อรับเอกสารสิทธิไปออกสินค้า โดยสัญญาว่าจะชำระเงินจำนวน 16,477.56 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8.5625 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินค่าสินค้าแทน กำหนดชำระภายในวันที่ 4 พฤษภาคม 2541 หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุด และสามารถปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้และโจทก์สามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันเวลาใดตามที่เห็นสมควร นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 5 มกราคม 2541 จำนวน 16,477.56 ดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ยร้อยละ 8.5625 ต่อปี ครบกำหนดชำระวันที่ 4 พฤษภาคม 2541 มอบให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และนางสุทธิลักษณ์ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในขณะทำสัญญาและภายหน้ารายละ 3,775,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมนอกจากนี้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 144747 ตำบลสายไหม (คลองหกวาสายล่างฝั่งใต้) อำเภอบางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 18,000,000 บาท หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอ ยอมชำระส่วนที่ขาดจนครบ และจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 50128, 50130 ตำบลฉิมพลี (บางระมาด) อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 12,000,000 บาท หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอยอมชำระส่วนที่ขาดจนครบ เมื่อครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ ณ วันฟ้องมีหนี้ค้างชำระเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 4,936,652.72 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ในฐานะทายาทของนางสุทธิลักษณ์ต้องร่วมกันรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแทนนางสุทธิลักษณ์ กับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งเจ็ดโดยชอบแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,936,652.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 17.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,503,673.28 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และทรัพย์สินอื่นในกองมรดกของนางสุทธิลักษณ์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 7 ให้การทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทำสัญญาทรัสต์รีซีทต่อโจทก์ ทั้งไม่เคยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้แก่โจทก์ เอกสารเลตเตอร์ออฟเครดิต สัญญาทรัสต์รีซีท และตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเอกสารปลอม สัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 และนางสุทธิลักษณ์จึงไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 7 ในฐานะทายาทของนางสุทธิลักษณ์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเปลี่ยนค่าสกุลเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งตั๋วสัญญาใช้เงินระบุไว้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ หากโจทก์จะเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทต้องคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาใช้เงิน ข้อตกลงตามสัญญาทรัสต์รีซีทที่ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามที่ตกลงกันจึงเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามอัตราที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน หากผิดนัดโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งเจ็ดรับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 2 และนางสุทธิลักษณ์ไม่ได้ค้ำประกันหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ในฐานะทายาทของนางสุทธิลักษณ์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่เคยทวงถามบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 7 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 3,503,673.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,048,318.36 บาท นับตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2541 อัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,813,375.57 บาท นับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2541ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2541 อัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,456,000.41 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2541 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2541 และอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,456,000.41 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,432,979.44 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท และให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ในฐานะทายาทของนางสุทธิลักษณ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินทรัพย์มรดกที่แต่ละคนได้รับ หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินที่ดินโฉนดเลขที่ 144747 ตำบลสายไหม (คลองหกวาสายล่างฝั่งใต้) อำเภอบางเขน จังหวัดกรุงเทพมหานคร และที่ดินโฉนดเลขที่ 50128, 50130 ตำบลฉิมพลี (บางระมาด) อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังเป็นที่ยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศรวม 3 ครั้ง ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ EXIM 01-163/1997 จำนวน 23,717.61 ดอลลาร์สหรัฐ เลขที่ EXIM 01-192/1997 จำนวน 49,650 ดอลลาร์สหรัฐ และเลขที่ EXIM 01-193/1997 จำนวน 16,477.56 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมา จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทต่อโจทก์เพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงิน 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 จำนวน 23,717.61 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งออกตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ EXIM 01-163/1997 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2540 จำนวน 32,309.06 ดอลลาร์สหรัฐ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 10,793.68 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 2 ครั้งดังกล่าวออกตามเลตเตอร์ออปเครดิตเลขที่ EXIM 01-192/2997 และครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2540 จำนวน 16,477.56 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งออกตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ EXIM 01-193/1997 และจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งระบุจำนวนเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับมอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ตามคำขอเปิดใช้วงเงินสินเชื่อเพื่อเลตเตอร์ออฟเครดิต สัญญาทรัสต์รีซีทและตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.21
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 ประการแรกว่า จำเลยทั้งเจ็ดจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 อุทธรณ์ว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน มิใช่ฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตกับสัญญาทรัสต์รีซีท ในประเด็นข้อนี้โจทก์มีนายประเทือง นางสาวรัชดา และนางณัฐวดี เบิกความประกอบเอกสารคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต สัญญาทรัสต์รีซีทและตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.21 ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขอเปิดใช้วงเงินสินเชื่อเพื่อเลตเตอร์ออฟเครดิตต่อโจทก์รวม 3 ครั้ง เพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายต่างประเทศต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้ต่อโจทก์เพื่อรับสินค้าออกไปจำหน่ายก่อนชำระเงินรวม 4 ครั้ง แต่ละครั้งจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้แก่โจทก์เป็นประกันการชำระหนี้ เมื่อครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 ให้การและนำสืบรับว่า จำเลยที่ 1 ได้ขอเปิดใช้วงเงินสินเชื่อเลตเตอร์ออฟเครดิตและทำสัญญา ทรัสต์รีซีทพร้อมออกตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์จริง เห็นว่า นับแต่จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อเลตเตอร์ออฟเครดิตจากโจทก์เมื่อโจทก์ชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศแทนจำเลยที่ 1 ไป เรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องนำสินค้าออกไปพร้อมกับชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระจึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์พร้อมกับออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย จึงเห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทเป็นหลัก จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์จึงเป็นการประกันเพื่อการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น หาใช่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 ต่อไปว่า โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เป็นสกุลเงินบาทได้หรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 อุทธรณ์อ้างว่าโจทก์ต้องฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐตามที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน ทั้งตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.13 จ.16 จ.18 และ จ.21 มิได้มีข้อความใดระบุให้โจทก์สามารถใช้ดุลพินิจเปลี่ยนแปลงเงินจากตั๋วสัญญาใช้เงินจากสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินบาทไทยได้แต่ประการใด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นสกุลเงินบาทโดยอาศัยสัญญาทรัสต์รีซีทได้นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทโดยเมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ไว้ซึ่งเป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ตามสัญญา ทรัสต์รีซีทเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำเลยที่ 1 จึงยังเป็นหนี้ต่อโจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอยู่ ดังนั้นข้อตกลงที่จะระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทจึงมีผลใช้บังคับ และตามสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.12 จ.15 จ.17 และ จ.20 ข้อ 7.2 ได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์มีสิทธิใช้ดุลพินิจเปลี่ยนหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทได้นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นฝ่ายผิดนัด ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยดังกล่าวชำระหนี้เป็นสกุลเงินบาทได้แม้หนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตลอดจนตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจะแสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศก็ตาม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 7 ข้อต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยหลังวันครบกำหนดตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับในอัตราใด โดยจำเลยดังกล่าวอุทธรณ์ว่า เมื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ได้ระบุว่าจะคิดดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดในอัตราใด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามกฎหมายเท่านั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท การที่จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ก็เพื่อการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทเอกสารหมาย จ.12 จ.15 จ.17 และ จ.20 ระบุถึงข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไว้ในข้อ 7. มีใจความว่า “…ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) ยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราสูงสุดนับแต่วันที่ข้าพเจ้าตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจนกว่าจะชำระหนี้ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายทั้งหมดเสร็จสิ้น…” แสดงว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 ในต้นเงินที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว ไม่ใช่กรณีไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดตามที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 7 กล่าวอ้างในอุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 7 อุทธรณ์ว่า ฝ่ายจำเลยควรรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2537 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลในการกำหนดความรับผิดเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระและดอกเบี้ยตามสัญญา การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค่าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นเบี้ยปรับลงพอสมควรยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ฝ่ายจำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องเป็นการใช้ดุลพินิจชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 7 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง โจทก์เป็นสถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 มาตรา 3 (4) ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2537 ข้อ 1 และตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจรัฐมนตรีกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสถาบันการเงินบางประเภทหรือทุกประเภทโดยกำหนดเป็นอัตราสูงสุดหรืออัตราที่อ้างอิงในลักษณะอื่นก็ได้ และจะกำหนดเงื่อนไขให้สถาบันการเงินต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ สำหรับธนาคารโจทก์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวข้างต้น กำหนดการคิดดอกเบี้ยของธนาคารโจทก์ไว้ในข้อ 2 โดยกำหนดว่า อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่ธนาคารโจทก์อาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้กู้ยืมได้ไม่เกินอัตราที่ธนาคารโจทก์กำหนด ซึ่งหมายความว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินประกาศของธนาคารโจทก์ที่ประกาศกำหนดเอง และโจทก์ได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ดังเช่นปรากฏในประกาศธนาคารโจทก์เอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 กรกฎาคม 2543) ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จนั้น โดยไม่ได้กำหนดให้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์นั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้ที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 7 จะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
นอกจากนี้ เนื่องจากหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้เป็นการชำระหนี้ไม่อาจแบ่งแยกได้ และเป็นกรณีที่ต้องพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนดอกเบี้ยดังได้กล่าวแล้วข้างต้น จึงสมควรให้คำพิพากษานี้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1)”
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 กรกฎาคม 2543) ที่จำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้นต้องไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ฉบับต่างๆที่มีผลบังคับในแต่ละช่วงเวลาหลังวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ถึงที่ 7 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 10,000 บาท แทนโจทก์

Share