แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นตำรวจเพราะโกรธแค้นที่ทำหน้าที่จับกุมพวกของจำเลยในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แจ้งให้จับกุม นอกจากนั้นยังบรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าจำเลยกับพวกกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ครบตามองค์ประกอบความผิด ป.วิ.อ. มาตรา 289 และทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวมาในฟ้อง แต่เมื่อโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 289 ศาลก็จะลงโทษจำเลยตามมาตรา 289 ไม่ได้ เพราะโทษตาม ป.อ. มาตรา 289 สูงกว่าโทษตามมาตรา 288 จึงเป็นการเกินคำขอ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยมีอาวุธปืนสั้น ขนาด .32 (7.65 มม.) ไม่มีเครื่องหมายทะเบียน 1 กระบอก กระสุนปืนขนาดเดียวกัน 1 นัด โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนกระบอกนั้นติดตัวไปในถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ทั้งยังร่วมกับพวกอีกคนหนึ่งใช้อาวุธปืนยิงดาบตำรวจวรวัฒน์ผู้เสียหายที่ 1 และนายวิชัยผู้เสียหายที่ 2 โดยมีเจตนาฆ่าตามที่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน 1 นัดหลังจากผู้เสียหายที่ 1 จับกุมพวกของจำเลยตามหน้าที่ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเพราะกระสุนปืนเพียงแต่ถูกข้อศอกขวาของผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส และไม่ถูกผู้เสียหายที่ 2 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 80, 91, 30, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม และ 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวและเป็นความผิดต่อกฎหมายบทเดียวกัน อัตราโทษเท่ากัน จำคุก 12 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่มีทะเบียนของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 13 ปี 6 เดือน คำให้การรับสารภาพในชั้นมอบตัวของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 9 ปี ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบมาตรา 80, 83 และ 52 (1) อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่จำคุกตลอดชีวิต ลดโทษให้หนึ่งในสามโดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 34 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าตามวันเวลาเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 และนายนเรศพาร้อยตำรวจเอกอนุชาติ และผู้เสียหายที่ 1 กับพวกไปจับผู้ต้องหาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซีดีเพลง 2 ราย พร้อมแผ่นซีดีเพลงประมาณ 200 แผ่น เป็นของกลางส่งมอบพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกระทุ่มแบนเพื่อดำเนินคดี ระหว่างนั้นหญิง 2 คน มาเจรจาขอประนีประนอมกับผู้เสียหายที่ 2 โดยมีจำเลยตามมาด้วย แต่ตกลงกันไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 2 และนายนเรศจึงขออาศัยรถกระบะของผู้เสียหายที่ 1 เดินทางกลับเมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกา หลังจากนั้นประมาณ 30 นาที มีคนร้ายนั่งรถจักรยานยนต์คันหนึ่งแล่นประกบขึ้นมาทางด้านซ้ายขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ขับรถกระบะอยู่ในช่องเดินรถด้านขวาสุดติเกาะกลางถนนเพชรเกษมก่อนถึงทางแยกเข้าหมู้บ้านเศรษฐกิจ แล้วใช้อาวุธปืนยิงทะลุกระจกประตูด้านซ้ายตามรูปถ่ายหมาย จ.5 เฉี่ยวลำคอผู้เสียหายที่ 2 ไปถูกข้อศอกขวาของผู้เสียหายที่ 1 จนกระดูกข้อศอกขวาแตกตามผลการชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.4 หลังจากคนร้ายขับรถจักรยานยนต์หลบหนีเลี้ยวซ้ายเข้าซอยหมู่บ้านเศรษฐกิจแล้ว ผู้เสียหายที่ 2 แจ้งเหตุต่อร้อยตำรวจเอกอนุชาผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ทันทีและช่วยนายนเรศนำตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์และร้องทุกข์พร้อมกับพาร้อยตำรวจเอกวีระพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหลักสองไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ยึดปลอกกระสุนปืนที่ตกอยู่บนถนนเป็นของกลางตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.26, จ.27 และบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.28 วันที่ 22 เดือนเดียวกันจำเลยมอบตัวที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอนครชัยศรีตามบันทึกการรับมอบตัวและแจ้งข้อกล่าวหาเอกสารหมาข จ.18 สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม และ 72 ทวิ วรรคสอง จำคุกกระทงละ 1 ปี และ 6 เดือน ตามลำดับ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า จำเลยเป็นคนร้ายกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 นายนเรศและร้อยตำรวจเอกอนุชาเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ขับรถกระบะมาถึงที่เกิดเหตุนั้นผู้เสียหายที่ 2 และนายนเรศได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางด้านซ้าย 1 นัด กระสุนปืนทะลุกระจกประตูด้านซ้ายถูกข้อศอกขวาของผู้เสียหายที่ 1 เมื่อพยานทั้งสองหันไปดูทางด้านซ้ายเห็นรถจักรยานยนต์คันหนึ่งแล่นประกบห่างประมาณ 1 เมตร จำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายวางมือไว้บนตักหันหน้ามามองในขณะที่คนขับรถจักรยานยนต์นำรถเบนออกไปทางด้านซ้ายและเลี้ยวเข้าซอยหมู่บ้านเศรษฐกิจ พยานจำได้ว่าจำเลยคือผู้ที่มากับหญิง 2 คน เพื่อเจรจาขอประนีประนอมกับผู้เสียหายที่ 2 ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอกระทุ่มแบน ผู้เสียหายที่ 2 จึงแจ้งร้อยตำรวจเอกอนุชาผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะที่นายนเรศช่วยขับรถกระบะพาผู้เสียหายส่งโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เมื่อได้ข้อมูลจากผู้เสียหายที่ 2 เช่นนั้น ร้อยตำรวจเอกอนุชาจึงประสานงานกับทางสถานีตำรวจภูธรอำเภอกระทุ่มแบนจนได้ความชัดเจนว่าจำเลยเป็นบุตรเขยนางดวงตาเจ้าของซีดีเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ที่ถูกจับกุมและเดินทางไปจับกุมจำเลยแต่ไม่พบตัว คงได้แต่รูปถ่ายหมาย จ.11 ไปให้ผู้เสียหายที่ 2 และนายนเรศดูแทนจนได้รับการยืนยันว่าเป็นรูปคนร้าย เห็นว่า แม้เหตุจะเกิดในเวลากลางคืนในขณะที่ผู้เสียหายที่ 2 และนายนเรศซึ่งโดยสารมาในรถกระบะของผู้เสียหายที่ 1 จะไม่ทันระวังตัว แต่สภาพที่คนขับรถจักรยานยนต์ต้องรักษาระดับความเร็วของรถที่แล่นขึ้นไปประกบทางด้านซ้ายของรถกระบะที่แล่นอยู่ในช่องเดินรถด้านขวาสุดติดเกาะกลางถนนเพชรเกษมเพื่อให้มีโอกาสและเวลาเล็งยิงผู้เสียหายทั้งสองตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นเขตในเมืองมีการจราจรพอสมควรและมีแสงสว่างจากไฟฟ้าข้างทางตลอดแนวถนน ดังนั้น กว่าผู้ขับรถจักรยานยนต์จะเบนรถเลี่ยงออกไปทางด้านซ้ายตัดการจราจรอีก 2 ช่องเดินรถเพื่อเลี้ยวเข้าซอยหมู่บ้านเศรษฐกิจซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 เมตร ก็น่าจะต้องใช้ความระมัดระวังและเวลาพอสมควร ผู้เสียหายที่ 2 และนายนเรศย่อมมีโอกาสและเวลาพอมองเห็นจำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายโดยไม่สวมหมวกนิรภัย ก่อนที่กระจกประตูรถด้านซ้ายจะแตกเป็นลายงาดังรูปถ่ายหมาย จ.5 และหลังจากนั้นผู้เสียหายที่ 2 ก็ยังสามารถมองผ่านกระจกหน้ารถเช่นเดียวกับนายนเรศซึ่งนั่งอยู่ทางด้านหลังที่สามารถมองผ่านกระจกด้านซ้ายบานหลังได้ ข้ออ้างของพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้จึงไม่มีข้อพิรุธ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 และนายนเรศต่างก็เพิ่งเห็นจำเลยตามหญิง 2 คน ที่มาเจรจาต่อรองกับผู้เสียหายที่ 2 แทนผู้ต้องหา จึงมีเหตุควรเชื่อว่าทั้งผู้เสียหายที่ 2 และนายนเรศจะต้องใส่ใจมองดูว่าใครเป็นคนในกลุ่มผู้ที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับตนนอกจากนั้นหากข้อมูลเบาะแสที่ผู้เสียหายที่ 2 แจ้งต่อร้อยตำรวจเอกอนุชาไม่กระจ่างชัดเพียงพอ แม้จะประสานงานกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอกระทุ่มแบนก็คงไม่สามารถรู้ชื่อคนร้ายและตามไปถึงบ้านนางดวงตาแม่ยายจำเลยได้ในวันรุ่งขึ้นจนได้รูปถ่ายจากบัตรประจำตัวประชาชนหมาย จ.11 ของจำเลยมาให้ผู้เสียหายที่ 2 และนายนเรศตรวจสอบความจำเป็นแน่ ชั้นสอบสวนพยานโจทก์ดังกล่าวต่างให้การยืนยันทันทีถึงร่องรอยและตำหนิรูปพรรณจำเลยตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.7 และ จ.12 โดยโจทก์มีร้อยตำรวจเอกวีระพนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานรับรองเอกสาร 2 ฉบับ นั้น คำเบิกความของพยานโจทก์จึงมีน้ำหนัก มิใช่พิรุธดังที่จำเลยฎีกา จำเลยเองก็เบิกความรับข้อเท็จจริงว่าเดินทางไปดูเหตุการณ์ที่เพื่อนของตนถูกตำรวจจับกุมในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอกระทุ่มแบนสอดรับกับคำพยานโจทก์เช่นนี้ จึงเสริมคำพยานโจทก์ให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกวีระต่อไปว่าเบื้องต้นจำเลยให้การรับสารภาพเมื่อเข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอนครชัยศรีตามบันทึกการรับมอบตัวและแจ้งข้อกล่าวหาเอกสารหมาย จ.18 โดยจำเลยมิได้นำสืบพยานหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในส่วนนี้ ที่จำเลยอ้างว่าถูกตำรวจกองปราบปรามทำร้ายบังคับให้เขียนคำรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.19 จึงไม่น่าเชื่อถือ เพราะไม่มีความจำเป็นที่ตำรวจกองปราบปรามจะต้องแสวงหาคำรับสารภาพของจำเลยเช่นนั้นอีก แม้โจทก์จะไม่ได้อาวุธปืนของกลางมาเป็นหลักฐานตามฎีกาของจำเลย ก็ไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์อ่อนด้อยแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ประกอบด้วยเหตุผล รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่กระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยานฐานที่อยู่ของจำเลยไม่พอหักล้าง
ที่จำเลยฎีกาคัดค้านว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ทั้งที่โจทก์มิได้ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องมาโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นตำรวจเพราะโกรธแค้นที่ทำหน้าที่จับกุมพวกของจำเลยในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แจ้งให้จับกุม นอกจากนั้นยังบรรยายไว้ด้วยว่าจำเลยกับพวกกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ครบตามองค์ประกอบความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 และทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ศาลก็จะลงโทษจำเลยตามมาตรา 289 ไม่ได้ เพราะโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 สูงกว่าโทษตามมาตรา 288 จึงเป็นการเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 289 ประกอบมาตรา 80, 83 จึงมิชอบ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 จำคุก 12 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นแล้วเป็นจำคุก 9 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์