คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4578/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ซ. ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เลิกบริษัท และตั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีต่อมาจำเลยที่ 1 ฟ้องบริษัทเรียกค่าจ้างว่าความซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีอยู่จริงจำเลยที่ 2 และที่ 3 สมยอมกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้บริษัทชำระเงินจำนวนหนึ่งแก่จำเลยที่ 1 และศาลมีคำพิพากษาตามยอมยังผลให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่แท้จริงต้องเสียเปรียบ สัญญาที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำขึ้นดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการฉ้อฉล ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เป็นคำฟ้องที่แสดงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ทั้งห้าร้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมอันเกิดจากการฉ้อฉล หาใช่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้าไม่ โจทก์ทั้งห้าชอบที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ซี.ไอ.ซี.อีเล็คโทรนิคส์ อินดัสตรี่ จำกัด ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เลิกบริษัทแล้วและตั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชี โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับเงินปันผลจากผลประกอบการของบริษัทที่มีกำไรก่อนเลิกบริษัทในปี 2535 และปี 2536 รวมเป็นเงินปันผลทั้งสิ้น 2,880,000 บาท แต่บริษัทยังไม่ได้จ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้โจทก์ทั้งห้า และโจทก์ทั้งห้ายังมีสิทธิได้รับสินทรัพย์ที่เหลือภายหลังจากการจัดการชำระบัญชีชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแล้ว ต่อมาระหว่างจัดการชำระบัญชีเมื่อเดือนสิงหาคม 2540 จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องบริษัทซี.ไอ.ซี. อีเล็คโทรนิคส์ อินดัสตรี่ จำกัด เรียกค่าจ้างว่าความจำนวน 8,000,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีอยู่จริงเพราะบริษัทตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นเงินเพียง 2,000,000 บาท และได้ชำระให้จำเลยที่ 1 เรียบร้อยแล้ว แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีกลับสมยอมกับโจทก์ (จำเลยที่ 1) ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้บริษัทชำระเงินจำนวน 8,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมไป เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการฉ้อฉล ไม่มีผลผูกพันบริษัท ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหรือทำลายสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่านิติกรรมสัญญาประนีประนอมยอมความตกเป็นโมฆะ

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยานและพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมไปแล้วได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทซี.ไอ.ซี.อีเล็คโทรนิคส์ อินดัสตรี่ จำกัดซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เลิกบริษัทแล้ว และตั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีต่อมาจำเลยที่ 1 ฟ้องบริษัทดังกล่าวในข้อหาผิดสัญญาจ้างทำของเรียกค่าจ้างว่าความซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีอยู่จริง ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับสมยอมกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้บริษัทชำระเงินจำนวน8,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 และศาลมีคำพิพากษาตามยอม ยังผลให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่แท้จริงต้องเสียเปรียบ สัญญาที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันทำขึ้นดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการฉ้อฉลจึงขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความที่ว่านั้น ดังนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งห้าย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า โจทก์ทั้งห้าซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นระหว่างลูกหนี้อันได้แก่บริษัทซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีเป็นผู้ทำการแทนกับบุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอก อันได้แก่จำเลยที่ 1 โดยกล่าวหาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบกับมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหรือทำลายสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ทั้งห้าร้องขอให้ศาลเพิกถอนซึ่งนิติกรรมอันเกิดจากการฉ้อฉลของจำเลยทั้งสาม หาใช่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามละเมิดต่อโจทก์ทั้งห้าไม่ ซึ่งโจทก์ทั้งห้าชอบที่จะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าหนี้บริษัทจริงหรือไม่ และสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกระทำลงโดยจำเลยทั้งสามรู้เท่าถึงความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ทั้งห้าต้องเสียเปรียบหรือไม่ล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ศาลต้องฟังพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายให้ครบถ้วนเสียก่อนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share