คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4577/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ยังไม่เสร็จสิ้นในขณะที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ในส่วนที่ 3การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงถูกยกเลิกแล้ว และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีผลบังคับ การกำหนดค่าทดแทนจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าทดแทน17,272,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน3,458,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(ฟ้องวันที่ 2 พฤษภาคม 2533) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาทและยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์2,816,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 2นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้โดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7684, 7685 และ 7686 ตำบลบางแค (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 146/1-2 ถนนเพชรเกษมแขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2กรกฎาคม 2523 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษสายพระประแดง – บางแค – ตลิ่งชัน – บางบัวทองตอนพระประแดง – บางแค – ตลิ่งชัน พ.ศ. 2523 มีผลใช้บังคับนับถัดจากวันดังกล่าวตามพระราชกฤษฎีกาจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ จำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนหมดทั้งสามแปลง เนื้อที่รวม 321 ตารางวาจำเลยที่ 3 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เป็นเงิน 393,900 บาทและกำหนดค่าทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างเฉพาะเลขที่ 146/2 ให้โจทก์เป็นเงิน 1,434,000 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนไปจากจำเลยที่ 3แล้ว และได้อุทธรณ์การกำหนดค่าทดแทนของจำเลยที่ 3 ต่อจำเลยที่ 2แต่จำเลยที่ 2 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นประการแรกว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่จำเลยที่ 3 กำหนดให้โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 มิได้กำหนดราคาที่ดินโดยพลการ แต่ได้กระทำตามขั้นตอนของกฎหมาย มีการกลั่นกรองและพิจารณาในรูปของคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินเนื่องในการสร้างทางหลวงพิเศษดังกล่าว และคณะกรรมการดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยมีหลักเกณฑ์และรายละเอียดที่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้วเห็นว่า ในการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว จำต้องวินิจฉัยก่อนว่าการกำหนดค่าทดแทนในการเวนคืนของโจทก์จะกำหนดโดยใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยหรือพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ในข้อนี้พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษสายพระประแดง – บางแค – ตลิ่งชัน – บางบัวทองตอนพระประแดง – บางแค – ตลิ่งชัน พ.ศ. 2523 ออกโดยอาศัยอำนาจของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงดังกล่าว ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2523 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 บัญญัติเรื่องค่าทดแทนไว้ตามข้อ 76 ว่า “เงินค่าทดแทนนั้นถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้ ฯลฯ (2) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับ ในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น” และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 บัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้น ถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้วให้กำหนดโดยคำนึงถึง (1) ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6” แสดงว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ทั้งสองฉบับดังกล่าวบัญญัติตรงกันว่า ถ้าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มิได้บัญญัติเรื่องเงินค่าทดแทนไว้ ก็ต้องกำหนดตามราคาในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา เมื่อการเวนคืนที่ดินของโจทก์มิได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์บัญญัติเรื่องเงินค่าทดแทนไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้หลักเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนในวันใช้บังคับพระกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงพิเศษสายพระประแดง – บางแค – ตลิ่งชัน – บางบัวทอง ตอนพระประแดง – บางแค – ตลิ่งชัน พ.ศ. 2523 คือวันที่ 3 กรกฎาคม 2523 และในการกำหนดค่าทดแทนนี้เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีประกาศกระทรวงคมนาคมลงวันที่ 23 กันยายน 22525 กำหนดให้ทางหลวงพิเศษดังกล่าวเป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 กำหนดว่าในการเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระค่าทดแทนตามความเป็นธรรมในส่วนที่ได้เข้าครอบครอง ถ้าไม่เป็นที่ตกลงกันได้ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดค่าทดแทน เจ้าของอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ครอบครองจะรับชำระหรือไม่ก็ได้ แสดงว่าขั้นตอนในการกำหนดค่าทดแทนจะต้องมีการตกลงกัน หากตกลงกันในจำนวนค่าทดแทนไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดค่าทดแทน ดังนั้นขั้นตอนในการกำหนดค่าทดแทนจะเสร็จสิ้นก็ต่อเมื่อโจทก์ได้ทราบกำหนดราคาค่าทดแทนแล้ว ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบรับกันว่าจำเลยที่ 3 กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์ แต่โจทก์และจำเลยที่ 3 ตกลงกันในจำนวนค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงไม่ได้ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.27แสดงว่าการตกลงราคาและการกำหนดค่าทดแทนได้กระทำกันเมื่อวันที่ 24กรกฎาคม 2532 อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295ในส่วนที่ 3 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงข้อ 63 ถึง ข้อ 80 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 แล้วและพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีผลใช้บังคับอยู่ ดังนั้นการกำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ซึ่งยังไม่เสร็จสิ้นในขณะที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มีผลบังคับจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 36 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 จึงถูกต้องแล้ว
เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้นถ้ามิได้บัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้วให้กำหนดโดยคำนึ่งถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม”จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลง ที่จำเลยที่ 3 กำหนดให้โจทก์ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ อนึ่งที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีซึ่งเป็นอัตราคงที่นั้น ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่สำหรับดอกเบี้ยให้โจทก์ได้รับเท่ากับอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ของจำนวนเงินที่เพิ่ม

Share