แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่คดีก่อนจำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 2 แล้วขอให้ศาลอายัดเงินที่จำเลยที่ 2 จะได้รับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างทำของไว้ก่อนพิพากษา และศาลมีคำสั่งให้อายัดตามคำขอนั้น เมื่อปรากฏว่าเงินค่าจ้างทำของเดิมเป็นสิทธิเรียกร้องของห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ทำสัญญาจ้างทำของกับจำเลยที่ 1 แต่ต่อมาได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้โจทก์ไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้อายัดแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1 อีกต่อไปคำสั่งให้อายัดจึงไม่มีผลบังคับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ตามคำสั่งให้อายัด แต่กลับส่งเงินไปยังศาลก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวของตนเอง หาทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้เงินค่าจ้างทำของจากจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ได้รับโอนมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด บ. ต้องเสื่อมเสียไปแต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่ทำให้โจทก์เสียหายจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภและบุตร มีสิทธิจะได้รับเงินค่าจ้างทำของจากจำเลยที่ 1 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภและบุตรโดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้โอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้สมคบกันฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยที่ 3 แกล้งฟ้องจำเลยที่ 2 ตามมูลหนี้ตั๋วเงินและสัญญากู้ยืมต่อศาลชั้นต้น โดยที่มิได้มีหนี้ต่อกันจริงและจำเลยที่ 3 ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินค่าจ้างดังกล่าวไว้ก่อนพิพากษาโดยอ้างว่าเป็นเงินที่จำเลยที่ 2 มีสิทธิที่จะได้รับจากจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นหลงเชื่อมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ส่งเงินมายังศาล จำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างทำของได้โอนมาเป็นของโจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่แจ้งให้ศาลทราบและได้ส่งเงินค่าจ้างทำของดังกล่าวจำนวน 265,650 บาทไปยังศาล ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้พิพากษาตามยอม โดยจำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมให้จำเลยที่ 3 รับเงินที่จำเลยที่ 1 ส่งมายังศาลไป การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันจงใจทำผิดต่อกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถรับเงินจำนวน 265,650 บาท จากจำเลยที่ 1 จึงเป็นละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 265,650 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์จะเป็นนิติบุคคลจริงหรือไม่และโจทก์จะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภและบุตรจริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่รับรอง จำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1ได้ส่งเงินค่าจ้างให้แก่ศาลชั้นต้นตามหมายอายัดโดยสุจริต มิได้จงใจและประมาทเลินเล่อและได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว ความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์เพิกเฉยไม่ได้ร้องขัดทรัพย์เอง และฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 265,650 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว การที่จำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 2 และขอให้ศาลอายัดเงินที่จำเลยที่ 2 จะได้รับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างทำของไว้ก่อนพิพากษา และศาลมีคำสั่งให้อายัดไว้ก่อนพิพากษาตามคำขอของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ได้ส่งเงินค่าจ้างทำของไปยังศาลตามหมายอายัดชั่วคราว และในที่สุดจำเลยที่ 3ได้รับเงินดังกล่าวไปจากศาลนั้น เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าเงินค่าจ้างทำของนี้เดิมเป็นสิทธิเรียกร้องของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภและบุตร ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาจ้างทำของกับจำเลยที่ 1และต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภและบุตรโดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่โจทก์ไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้อายัดแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภและบุตรและจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อจำเลยที่ 1อีกต่อไป คำสั่งให้อายัดจึงไม่มีผลบังคับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ตามคำสั่งให้อายัดแต่กลับส่งเงินไปยังศาล ก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวของตนเอง หาทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้เงินค่าจ้างทำของจากจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ได้รับโอนมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภและบุตรต้องเสื่อมเสียไปแต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยดังกล่าวมาไม่ทำให้โจทก์เสียหายจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และเนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ในมูลละเมิด เป็นการขอให้ชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2เสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์