คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1292-1293/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การส่งเอกสารไปให้ผู้เชียวชาญกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจพิสูจน์ลายมือนั้น เมื่อผู้เชียวชาญคนใดของกองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจพิสูจน์ได้ผลประการใดและทำรายงานความเห็นส่งมายังศาลแล้ว ก็เป็นการเพียงพอสำหรับปัญหาที่โต้เถียงกัน ไม่จำต้องส่งไปให้ตรวจพิสูจน์ใหม่ เพราะเป็นการเพียงพอสำหรับปัญหาที่โต้เถียงกัน ไม่จำต้องส่งไปให้ตรวจพิสูจน์ใหม่ เพราะเป็นการตรวจพิสูจน์ซ้ำและไม่น่าจะมีผลเปลี่ยนแปลงจากเดิม
ผู้ตายกู้เงินโจทก์ไปหลายคราว แต่ทำสัญญากู้รวมกันให้โจทก์ไว้ฉบับเดียวตามที่โจทก์นำมาฟ้อง ดังนี้ โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องว่าผู้ตายกู้เงินโจทก์ไปกี่คราว คราวละเท่าใด ทำหนังสือกู้ลงวันเดือนปี เพียงแต่บรรยายฟ้องเกี่ยวกับสัญญากู้ฉบับที่นำมาฟ้องก็พอ
เมื่อศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง ย่อมเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากจำเลยจะอุทธรณ์คัดค้าน ต้องยื่นคำแถลงคัดค้านไว้
บัญชีทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 วรรค 1 ซึ่งนำมารใช้กับการจัดการมรดกตามมาตรา 1730 ย่อมหมายถึงบัญชีทรัพย์มรดกซึ่งได้จัดทำขึ้น โดยผู้จัดการมรดก ภายหลังที่ได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว หาได้หมายถึงบัญชีทรัพย์มรดกที่ทำยื่นพร้อมคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกไม่
เมื่อคู่ความฝ่ายใดร้องขอให้ศาลตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจเอกสารและศาลมีคำสั่งตั้งตามขอแล้ว ผู้เชี่ยวชาญนั้นจึงเป็นผู้เชียวชาญที่ศาลตั้ง ศาลย่อมรับฟังรายงานความเห็นของผู้เชียวชาญนั้นได้ โดยไม่ต้องเรียกให้มาสาบานหรือปฏิญาณรับรองรายงานนั้นอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อนายอุทัย ณ ระนอง มีชีวิตอยู่ ได้ยืมเงินโจทก์ไปหลายคราว เป็นเงินหนึ่งแสนบาทเศษ และได้ทำสัญญากู้ให้โจทก์ยึดถือไว้ ต่อมานายอุทัยได้ถึงแก่กรรม โจทก์เป็นบุตรและจำเลยเป็นภริยาผู้ตายได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันตามคำสั่งศาล โจทก์ได้ขอให้จำเลยเอาทรัพย์สินในกองมรดกชำระหนี้ตามสัญญา จำเลยไม่ยอม ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า นายอุทัยผู้ตายไม่เคยกู้เงินโจทก์ ลายเซ็นในสัญญากู้ไม่ใช่ลายเซ็นของนายอุทัยผู้ตาย สัญญาที่โจทก์อ้างเป็นสัญญาปลอม โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ลงมือทำบัญชีทรัพย์สิน แต่ไม่ได้แจ้งให้ศาลทราบถึงหนี้ที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของนายอุทัยผู้ตาย หนี้รายนี้จึงสูญไปตามกฎหมาย ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นกำหนดหน้าที่ให้โจทก์นำสืบก่อน เมื่อสืบพยานโจทก์แล้วจำเลยขอให้ศาลสั่งสัญญากู้ไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจตรวจลายมือผู้กู้ ศาลเห็นว่าสัญญากู้ได้ส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจพิสูจน์และได้รับรายงานผลของการตรวจมาแล้ว จึงไม่อนุญาตให้ส่งไปตรวจซ้ำอีกตามที่จำเลยขอ จำเลยยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งไว้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม และเชื่อว่านายอุทัยผู้ตายได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง และได้นำเงินไปใช้จ่ายเกี่ยวกับการอาชีพที่จำเลยมีส่วนร่วมอยู่ด้วย หนี้ของนายอุทัยผู้ตายจึงเป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๒ จำเลยจึงต้องรับผิด
สำหรับมรดกของนายอุทัยผู้ตายนั้น ศาลได้ตั้งให้โจทก์จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันก่อนยื่นคำร้องต่อศาล โจทก์จำเลยได้ทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ตายยื่นพร้อมกับคำร้องของเป็นผู้จัดการมรดก บัญชีทรัพย์ดังกล่าวนี้มิใช่บัญชีทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๔, ๑๗๓๐ ฉะนั้น การที่โจทก์มิได้แจ้งต่อศาลว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ ก็ไม่ทำให้สิทธิที่จะเรียกให้กองมรดกชำระหนี้โจทก์สูญไป พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น และอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ส่งเอกสารสัญญากู้ไปให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจพิสูจน์ตามคำขอของจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นข้อ ๆ ดังนี้
๑. ตามที่จำเลยขอให้ศาลส่งเอกสารสัญญากู้ไปให้ผู้เชียวชาญกรมตำรวจตรวจพิสูจน์ซ้ำอีก โดยระบุชื่อผู้เชียวชาญไปด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อผู้เชียวชาญคนใดคนหนึ่งในกองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจได้ตรวจพิสูจน์ได้ผลประการใดและได้รายงานผลให้ศาลทราบแล้ว ก็น่าจะเป็นการเพียงพอสำหรับปัญหาที่โต้เถียงกัน ถ้าส่งเอกสารไปให้ตรวจพิสูจน์ใหม่อีกตามที่จำเลยขอ น่าจะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงจากเดิม นอกจากจะเป็นการฟุ่มเฟือยและประวิงคดีให้ล่าช้าเท่านั้น
๒. ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายว่านายอุทัยผู้ตายกู้เงินโจทก์ไปกี่คราว ๆ ละเท่าใด ทำสัญญากู้วันเดือนปีใด ใครเป็นพยานบ้าง ปัญหาสำคัญมีว่านายอุทัยผู้ตายได้กู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น โจทก์ได้บรรยายไว้โดยแจ้งชัดแล้วว่านายอุทัยผู้ตายได้กู้และรับเงินไปจากโจทก์หลายคราวรวมทั้งได้รับไว้ในวันทำสัญญาตฟ้องนี้อีก ๕,๐๐๐ บาทด้วย เป็นเงินรวมหนึ่งแสนบาทเศษ โจทก์จึงให้ทำสัญญากู้ไว้เป็นเงินหนึ่งแสนบาทถ้วน จำเลยจึงเข้าใจข้อหาของโจทก์ได้ดีอยู่แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
๓. การที่ศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นการชอบหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์จำเลยต่างยื่นคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องและคำให้การด้วยกัน ในวันนัดพิจารณาคำร้อง โจทก์จำเลยต่างแถลงว่าไม่คัดค้านอีกฝ่ายหนึ่งขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องและคำให้การ ศาลจึงอนุญาตให้โจทก์จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องและคำให้การได้ตามขอ ซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ถ้าจำเลยเห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยต้องแถลงคัดค้านติดสำนวนไว้ จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลได้ แต่จำเลยหาได้แถลงคัดค้านไม่ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖(๒)
๔. หนี้ของโจทก์จะสูญไปตามกฎหมายเพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งต่อศาลว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ผู้ใดหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ในเบื้องต้น โจทก์จำเลยได้ยื่นคำต้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและได้ทำบัญชีทรัพย์แนบติดกับคำร้องเพื่อประกอบการวินิจฉัยของศาล คำว่า บัญชีทรัพย์มรดกซึ่งจัดทำขึ้นโดยผู้จัดการมรดก หมายถึงบัญชีทรัพย์ซึ่งผู้จัดการมรดกที่ได้รับแต่งตั้งจากศาลเป็นผู้จัดการหาใช่บัญชีทรัพย์ที่ยื่นพร้อมกับคำร้องไม่ เพราะขณะทำบัญชีโจทก์จำเลยยังไม่มีหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดก ฉะนั้น โจทก์มิได้แจ้งต่อศาลว่าผู้ตายเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ จึงไม่ขัดต่อมาตรา ๑๕๖๔ อันจะทำให้หนี้ของโจทก์ต้องสูญไป
๕. ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้ศาลตั้งผู้เชียวชาญเพื่อตรวจเอกสารและศาลมีคำสั่งตั้งตามขอแล้ว ผู้เชี่ยวชาญนั้นจึงเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ศาลตั้ง ศาลย่อมรับฟังรายงานความเห็นของผู้เชี่ยวชาญนั้นได้โดยไม่ต้องเรียกให้มาสาบานหรือปฏิญาณรับรองรายงานนั้นอีก เว้นแต่ศาลยังไม่พอใจความเห็นนั้น หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดร้องขอ ศาลจึงจะเรียกผู้เชี่ยวชาญนั้นมาเบิกความประกอบรายงาน
ศาลฎีกาพิเคราะห์ข้อเท็จจริงฟังว่า นายอุทัย ณ ระนอง ผู้ตายได้ยืมเงินโจทก์ไปตามฟ้อง พิพากษายืน

Share